xs
xsm
sm
md
lg

คอนโดฯ ทรุดหนักเผย Q1/63 ยอดเปิดโครงการใหม่วูบกว่า 53.4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ริษิณี สาริกบุตร
ไนท์แฟรงค์ฯ เชื่อตลาดคอนโดฯ ปี 63 หดตัวทั้งระบบ คาดทั้งปีห้องชุดเปิดขายใหม่ 11,000-12,000 หน่วย หดตัว 80% เผยไตรมาสแรกซัปพลายเปิดขายใหม่ 6,007 ยูนิต หดตัว 53.4% ขายออกเพียง 1,791 หน่วย ระบุ Q1/63 ดีมานด์หดตัวหนักเหตุกำลังซื้อตก เศรษฐกิจทรุด แบงก์เข้มปล่อยกู้ เชื่อคอนโดฯ อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวกว่า 2 ปี

น.ส.ริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลการวิจัยตลาดตลาดคอนโดมิเนียมไตรมาสที่ 1/63 พบว่า มีการชะลอตัวทั้งดีมานด์และซัปพลาย จากผลกระทบการะบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลให้ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.-เม.ย.ใน กทม.ไม่มีคอนโดฯใหม่เปิดขาย โดยโครงการที่มีแผนจะเปิดตัวในไตรมาสแรกประกาศเลื่อนเปิดขายไปไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการได้เปลี่ยนมาทำตลาดในรูปแบบการขายออนไลน์ และใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ คาดว่าตลอดทั้งปี 63 น่าจะมีคอนโดฯเปิดขายใหม่ 11,000 -12,000 หน่วย ลดลงจากที่ประมาณการไว้เมื่อต้นปีที่ 20,000 หน่วย หรือลดลง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา มีคอนโดฯเปิดขายใหม่ใน กทม.เฉลี่ย 60,000 หน่วยต่อปี สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ามีหน่วยเปิดขายใหม่ 6,007หน่วย ลดลง 53.4% เมื่อเทียบไตรมาส 1/62 สาเหตุหลัก เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน มี.ค.การระบาดได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

คอนโดฯ ที่เปิดขายใหม่ในไตรมาส 1/63 โดยมากเป็นคอนโดฯเกรดซี ราคาต่ำกว่า 80,000 บาท ต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ประมาณ 58% รองมาเป็นคอนโดฯ เกรดบีราคา 80,001-150,000 บาทต่อ ตร.ม. ประมาณ 27% และคอนโดฯ เกรดเอ ราคามากกว่า 150,000 บาทต่อ ตร.ม. ประมาณ 4% ส่วนคอนโดฯ ไพรม์และซุปเปอร์ไพรม์มีซัปพลายใหม่เพียง 1%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดคอนโดฯ ที่ลดลงอย่างชัดเจน โดยในไตรมาสที่ 1/63 มีหน่วยขายแล้วเพียง 1,791 หน่วย จากซัปพลายที่เปิดขายใหม่ 6,007 หน่วย คิดเป็น 30% สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการขายลดลง 9% จากช่วงเดียวของปีก่อน หรืออัตราการขายลดลง 20% เมื่อเทียบไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากยอดขายที่ลดลงแล้ว ในด้านยอดโอนคอนโดฯ ในโครงการสร้างเสร็จและพร้อมที่จะโอนในปีนี้ยังน่าเป็นห่วง

เนื่องจากการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้ทุกธุรกิจแทบจะหยุดการดำเนินกิจกรรมเกือบ 100% แน่นอนว่าในช่วงที่ธุรกิจต่างๆ หยุดการดำเนินงาน ย่อมมีผล กระทบต่อการทำงานของบุคลากรในองค์กรธุรกิจต่างๆ ไปด้วย บางธุรกิจมีการลดการจ้างงาน และลดเงินเดือนของพนักงานทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ หรือมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งเมื่อถึงเวลาโอนอาจจะทำการโอนไม่ได้อันเนื่องมาจากการที่ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และเชื่อว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้


“อย่างไรก็ดี เพื่อความอยู่รอด จะเห็นได้ว่าหลายๆ บริษัทได้พยายามทำการตลาดเพื่อสร้างยอดขายไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชันแบบลดราคา ตั้งแต่ 20% ถึงสูงสุด 50% สำหรับยูนิตขายบางยูนิตในโครงการ เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาชมโครงการ นอกจากโปรโมชันลดราคาแล้ว ยังมีโปรฯ ฟรีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน 1% ค่าอากรแสตมป์ ค่าติดตั้งและค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เงินค่าบริการส่วนกลางฟรี 1 ปี และเงินกองทุนแรกเข้า และอื่นๆ อีกมาก” น.ส.ริษิณี กล่าว

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มโครงการที่จับกลุ่มนักลงทุน ก็มีโปรโมชันที่ดึงดูดนักลงทุน เช่น ผ่อนให้ฟรี 2 ปี ในส่วนของลูกค้าที่ได้ทำการซื้อคอนโดฯ ไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการผ่อนดาวน์ หลายบริษัทได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ซื้อ เนื่องจากลูกค้าหลายคนอาจประสบปัญหาไม่มีรายได้เข้ามา ทั้งนี้ หลายบริษัทได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาด้วยการระงับการชำระค่างวดเงินดาวน์ชั่วคราวเริ่มต้นที่ 3 เดือน

น.ส.ริษิณี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในช่วงที่สถานการณ์อสังหาฯ ชะลอตัวเช่นนี้ ก็เป็นผลดีกับกลุ่มนักลงทุนที่มีเงินเก็บ ถือเงินเย็นไว้ในกระเป๋า ได้ใช้โอกาสนี้เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมที่ลดราคาลงจนต่ำกว่าราคาตลาดเก็บไว้เพื่อทำกำไรเมื่อเศรษฐกิจกลับฟื้นตัว เนื่องจากบางโครงการเก็บเฉพาะเงินจอง และชำระในส่วนที่เหลือเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ หากซื้อในโครงการที่ผ่อนให้อีก 2 ปี นักลงทุนดังกล่าวจะไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

สำหรับแนวโน้มของตลาดคอนโดฯ กทม.ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ว่า การเปิดขายคอนโดฯ ใหม่จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการคอนโดฯ ขนาดใหญ่ และคอนโดฯ ราคาสูงหรือโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการนานกว่า 5 ปี และคอนโดฯ ที่เน้นขายนักลงทุนและชาวต่างชาติ โครงการคอนโดฯ ที่เปิดขายในปีนี้จะเน้นขายผู้ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงระดับราคาไม่เกิน 100,000 บาทต่อ ตร.ม.

โดยแนวโน้มคอนโดฯ ที่ชะลอตัวทั้งซัปพลายและดีมานด์ คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาอีกถึง 2 ปี กว่าตลาดคอนโดฯ กลับมาดีขึ้น เนื่องจากซัปพลายเหลือขายใน กทม. ยังมีจำนวนมากเกือบ 100,000 หน่วย

อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดขายคอนโดฯ จะส่งผลดีต่อตลาดใน กทม.จะได้มีเวลาที่จะระบายสต๊อกคงค้างออกไป อีกทั้งการเลื่อนการเปิดโครงการใหม่จะส่งผลให้ภาวะการแข่งขันมีความรุนแรงลดลง ในส่วนของคอนโดฯ สร้างเสร็จในปีนี้ พบว่าผู้ประกอบการพยายามลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า ทำให้ปีนี้ตลาดคอนโดฯ ถือว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น