อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น ไตรมาสแรก ILINK ปี 63 อวดรายได้รวม 1,349 ล้านบาท และมีกำไร 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% สวนกระแสไวรัสโควิดระบาด มั่นใจผลประกอบการตลอดปี 63 โตตามเป้า รายได้ 5,950 ล้านบาท และเป้ากำไรสุทธิ 6% ของรายได้ เผยผลการซื้อหุ้นคืนทำราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า “สำหรับผลการดำเนินงานงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 นั้น กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีรายได้รวม 1,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% มั่นใจรายได้ปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 5,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5%
โดยสัดส่วนรายได้ที่ตั้งเป้าไว้ดังนี้ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) อยู่ที่ 2,340 ล้านบาท ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) อยู่ที่ 2,396 ล้านบาท และธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) อยู่ที่ 1,214 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2563-2567) บริษัทฯ ได้ปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่ดีเพิ่มขึ้น โดยไม่เน้นการเติบโตของรายได้ มุ่งเน้นการทำกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทฯ
นอกจากนี้แล้ว จากการที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ซื้อหุ้นของบริษัทคืนในจำนวนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ส่งผลให้ราคาซื้อขายหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ในขณะที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่ในภาพรวมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทำให้มั่นใจได้ว่าแนวโน้มรายได้ในปี 2563 จะเป็นไปตามเป้าแน่นอน”
สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ไตรมาสแรกมีรายได้รวมอยู่ที่ 540 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 30 ล้านบาท โดยภาพรวมการดำเนินธุรกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความจำเป็นต้องสื่อสารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แม้สถานการณ์วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่จะช่วยให้คนคุ้นชินกับเทคโนโลยี กลายเป็น New Normal (ความปกติแบบใหม่ในสังคม) หลังจบ COVID-19 โดยกิจกรรมการสื่อสารออนไลน์ล้วนต้องอาศัยการส่งข้อมูลผ่านสายสัญญาณ (Cabling) และอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Networking) เพื่อส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ Wi-Fi (Access Point) ซึ่งเป็นสินค้าหลักของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ พร้อมชูแคมเปญ “คุณสั่ง เราส่ง” และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้งหมดผ่านรูปแบบออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขาย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่มีวิกฤตไวรัสโควิด-19 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution)
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ยังคงการเติบโตที่โดดเด่น ไตรมาสแรกมีรายได้รวมอยู่ที่ 455 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 40 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้หลักมาจากงานบริการโครงข่ายซึ่งถือเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 267 ล้านบาท เป็นผลจากการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 2) ที่เริ่มเปิดให้บริการในไตรมาสนี้ ในขณะเดียวกัน โครงข่ายของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจด้วยคุณภาพของการให้บริการ จึงทำให้บริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลประกวดราคาบริการระบบเครือข่ายเสมือนและระบบแจ้งเตือนข้อความสั้น (SMS) ของการประปาส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการรวม 17.12 ล้านบาท ทำให้จะมีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องมาเสริมรายได้ของธุรกิจโทรคมนาคมอีกด้วย
สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) ไตรมาสแรกมีรายได้รวมอยู่ที่ 344 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนปรับลดสัดส่วนรายได้ของธุรกิจวิศวกรรมจาก 20% เหลือเพียง 5% มุ่งเน้นเฉพาะงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันบริษัทฯ ได้งานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 3 งานด้วยกัน มูลค่ารวมกว่า 323.48 ล้านบาท โดยทั้ง 3 งานลงนามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ งานโครงการ CC3 อาคาร SAT-1 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากกว่า 80% และรถไฟ APM ก็มีแผนที่จะทยอยนำส่งในไม่ช้า สำหรับ Backlog ยังเหลือรับรู้รายได้อีกกว่า 1,442 ลบ. ซึ่งคาดการณ์จะรับรู้รายได้ในปี 2563 จำนวน 1,214 ลบ. ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของเป้าหมายรายได้ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษในปี 2563 เป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน