xs
xsm
sm
md
lg

"ครม." อนุมัติประกันภัยข้าวนาปีในปี 63 ขยายพื้นที่เป้าหมายเพิ่มเป็น 44.7 ล้านไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ครม." เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปีในปีการผลิต 63 ตามที่ "คลัง" เสนอ กำหนดเพิ่มเป้าหมายเอาประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 จาก 30 ล้านไร่ ในปีการผลิต 2562 เป็นจำนวน 44.7 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 75% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ ทั้งยังให้คงรูปแบบและประเภทภัยที่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับโครงการฯ ในปีการผลิต 62 โดยการรับประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ประเภท เริ่มดำเนินการได้หลัง ครม.อนุมัติ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี (โครงการฯ) ปีการผลิต 2563 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สำหรับโครงการฯ ปีการผลิต 2563 เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2554-2562 โดยคงรูปแบบการรับประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) ซึ่งภาครัฐให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแก่เกษตรกร และการประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัย ทั้งนี้ โครงการฯ ปีการผลิต 2563 มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

กำหนดการเพิ่มเป้าหมายสำหรับการเอาประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) จาก 30 ล้านไร่ ในปีการผลิต 2562 เป็นจำนวน 44.7 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 1.เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกราย จำนวนไม่เกิน 28 ล้านไร่

2.เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ 594 อำเภอ จำนวนไม่เกิน 15.7 ล้านไร่ และ 3. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติปานกลางและสูง จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ และกำหนดเป้าหมายการประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) จำนวน 1 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังให้คงรูปแบบและประเภทภัยที่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 โดยการรับประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

สำหรับเกษตรกรที่เอาประกันภัยในส่วนที่ 2 (Tier 2) จะได้รับวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ประเภทดังกล่าว และวงเงินความคุ้มครองเพิ่มเติม 120 บาทต่อไร่สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ทั้งนี้ เมื่อรวมวงเงินความคุ้มครองส่วนที่ 1 (Tier 1) และ ส่วนที่ 2 (Tier 2) แล้ว จะได้รับความคุ้มครอง 1,500 และ 750 บาทต่อไร่ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรทุกรายสำหรับการประกันภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) ในอัตรา 58 บาทต่อไร่ และอุดหนุนเพิ่มเติมในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด คิดเป็นงบประมาณรวม 2,910,391,000 บาท และ ธ.ก.ส. จะให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ในอัตรา 39 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า โครงการฯ ปีการผลิต 2563 สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังได้รับการอนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น