Lombard Odier เชื่อตลาดตราสารหนี้จะกลับมาฟื้นตัว และให้ผลตอบแทนดีเหมือนเดิม หลังเฟดอัดคิวอีและเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชน
นายดีราช บาจาช Head of Asia Credit, Lombard Odier กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ถูกกดดันเหมือนตอนปี 2551 แต่เหตุการณ์รอบนี้มีความต่าง คือ การปรับลดดอกเบี้ยและความรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อัดฉีดมาตรการคิวอีและเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชน รวมทั้งการใช้มาตรการการเงินและการคลังที่มีขนาดมหาศาล ทำให้ตลาดกลับมามีเสถียรภาพ
โดย Lombard Odier มีการบริหารจัดการกองทุนแบบเชิงรุก มีการวิเคราะห์ประเมินเครดิตของตราสารทุกตัวที่ลงทุนอย่างละเอียด เน้นเชิงมูลค่า โดยให้ความสำคัญต่อปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ ประเมินว่าตลาดที่ผันผวนในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เมื่อภาวะตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติคาดว่าราคาของตราสารหนี้จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดีเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าหากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลง หรือเริ่มดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง การดีดกลับของผลตอบแทนตราสารหนี้จะเป็นลักษณะตัววีเชฟคล้ายกับปี 2551 แต่หากมีการเปิดเมืองและต้องล็อคดาวน์เมืองอีกรอบการฟื้นตัวก็จะใช้เวลามากขึ้น
ด้านนายตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า การจัดสรรพอร์ตการลงทุนของ K-APB ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund, (USD) ลงทุนในตราสารหนี้ โดยธนาคารยังคงน้ำหนักการลงทุนระดับ 3% สำหรับพอร์ต Model 1 (ประกอบด้วยการลงทุนในพอร์ตหลัก 60% และ พอร์ตเสริม 40%) และ 5% สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นมาหรือ Model 2 (ประกอบด้วยการลงทุนในพอร์ตหลัก 50% และ พอร์ตเสริม 50%) ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมั่นใจว่าการลงทุนใน K-APB ยังคงเหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกนาน สามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากระยะยาว และยังเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกองทุน K-APB ยังจะช่วยพอร์ตเสริมในส่วนของการเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี