“ซีเอ็มโอ” ชี้ไวรัสโควิด-19 กระทบวงการอีเวนต์ ครอบคลุมงานทุกประเภท งานคอนเสิร์ต โชว์บิซ เทรดแฟร์ งานแสดงสินค้า แคมเปญการตลาด ตลอดจนงานประชุมนานาชาติ มูลค่ารวมมากกว่าหลายแสนล้านบาท เดือดร้อนทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “ธุรกิจซัปพลายอุปกรณ์ภาพแสงเสียง ธุรกิจทำเวทีทำฉาก ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน ธุรกิจก่อสร้างบูทพาวิเลียน ธุรกิจรับจัดเลี้ยง (Catering)” ตลอดจนกลุ่มอาชีพพิธีกร, พริตตี้, สตาฟ, ช่างภาพ ขาดรายได้ ตกงาน พนักงานถูกลดเงินเดือน ได้รับผลกระทบหลายหมื่นคน “ผู้ประกอบการ” วอนรัฐบาลเห็นใจให้ความสำคัญธุรกิจอีเวนต์ เร่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อน เตรียมปรับตัวสู้ศึก ชูเทคโนโลยีดิจิทัล หันมาจัดอีเวนต์ออนไลน์
นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยถึงผลกระทบของธุรกิจอีเวนต์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีตั้งแต่เกิดวงการอีเวนต์ขึ้นมา โดยผลกระทบเริ่มมาชัดเจนมากที่สุดในเดือนมีนาคม ซึ่งงานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% ซึ่งปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจอีเวนต์ จากการประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบหนัก มูลค่าความเสียหายตลาดอีเวนต์อยู่ที่ประมาณ 50-60% จากภาพรวมตลาดอีเวนต์ปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท และคาดว่าทำให้บริษัทออร์แกไนเซอร์ต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจการจัดงานคอนเสิร์ต ซึ่งในแต่ละปีมีการจัดงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมกันมากกว่า 100 งาน ซึ่งปัจจุบันต้องหยุดจัดงานเลยทั้งหมด
กระทบทั้งอุตสาหกรรมอีเวนต์ เชื่อยอดขายหายไปครึ่ง คนตกงานเป็นหมื่น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอีเวนต์ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อบริษัทออร์แกไนเซอร์แล้ว ธุรกิจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการจัดงานอีเวนต์อีกหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ได้แก่ 1. ธุรกิจด้านซัปพลายอุปกรณ์ระบบภาพแสงเสียง 2. ธุรกิจการทำโครงสร้างเวที, ทำฉาก 3. ธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงาน เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า 4. ธุรกิจก่อสร้างบูท, พาวิเลียน 5. ธุรกิจรับจัดเลี้ยง (Catering) นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องในงานอีเวนต์ เช่น พิธีกร, พริตตี้, สตาฟรันงาน, ช่างภาพ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความเสียหายหนักมาก โดยเฉพาะในบางบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่ สภาพคล่องในกิจการไม่มากพอ อาจจะต้องถึงกับปิดตัวภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ เมื่อธุรกิจดำเนินต่อไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้กิจการ และสุดท้ายส่งผลต่อพนักงานคนทำงานในอุตสาหกรรมอีเวนต์ทั้งระบบจำนวนหลายหมื่นคน ที่บางคนต้องตกงาน หรือถูกลดเงินเดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเชื่อว่าจะมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมากถึง 50-60%
“ในส่วนของ CMO ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดของการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงของวงการธุรกิจอีเวนต์ด้วย โดยส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทฯ ในไตรมาส 1-2 คาดว่ารายได้จะลดลงประมาณ 80% เนื่องจากอีเวนต์หลายงานในช่วงนี้ต้องยกเลิก ซึ่งปกติเป็นช่วงที่ธุรกิจอีเวนต์คึกคัก มีทั้งการจัดงานมอเตอร์โชว์, งานแสดงสินค้าต่างๆ, เปิดตัวสินค้า รวมทั้งในเดือนเมษายน ที่ส่วนใหญ่จะมีจัดงานปาร์ตี้คอนเสิร์ต EDM ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้ก็ต้องยกเลิกไป สำหรับผลกระทบในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้แก้วิกฤตครั้งใหญ่ในเรื่องของการบริหารงานบริหารคนเช่นกัน โดยเราจำเป็นต้องปรับลดวันทำงานของพนักงานจาก 5 วัน เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และขอปรับลดเงินเดือนพนักงานตามสัดส่วน ซึ่งได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน โดยทุกคนเข้าใจและยินยอมที่จะสู้ไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดีขึ้น กลับมาจัดงานอีเวนต์ได้ตามปกติ บริษัทฯ ยังมีงานที่มีความต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3-4 รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ทำให้บริษัทฯ จะปรับเป้ารายได้ปีนี้ลดลง 50% หรือลดลงประมาณ 700 ล้านบาท” นายเสริมคุณกล่าว
CMO ปรับตัวสู้ศึก พัฒนา Experiential Online Solutions ลุยจัดอีเวนต์ออนไลน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMO กล่าวอีกว่า ธุรกิจอีเวนต์เป็นธุรกิจที่มีความหวือหวา และมีปัจจัยเสี่ยงกระทบธุรกิจได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจ, การเมือง หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติ ทำให้ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการปรับแผนบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด บริษัทฯ รับทำงานที่ไม่ใช่แค่งานอีเวนต์ โดย บริษัทฯ มีหน่วยธุรกิจ CM Museum ที่รับดูแลงานด้านบริหารจัดการ รวมถึงก่อสร้างและพัฒนา Content ให้กับพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันยังดำเนินงานต่อได้อยู่ นอกจากนี้ ยังปรับแผนธุรกิจ พัฒนาอีเวนต์ขึ้นในรูปแบบการจัดงานแบบอีเวนต์ออนไลน์ ซึ่งกลุ่มบริษัทเรามีหน่วยธุรกิจ CM Digital ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องให้บริการ Digital Solutions และ Data Management นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างมิติใหม่ในการจัดงานอีเวนต์ทุกประเภทอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้การจัดงานผ่านเทคโนโลยีออนไลน์และไลฟ์สตรีมมิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปถึงภาครัฐบาลให้ความสนใจ และมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการจัดงาน รวมทั้งคนในอาชีพวงการอีเวนต์ด้วย ซึ่งถ้าหากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลาย ขอให้รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว จะได้สร้างให้เกิดเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ” นายเสริมคุณกล่าวทิ้งท้าย