ธนาคารโลกระบุภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเสี่ยงเกิดภาวะช็อกจากโควิด-19 ส่งผลตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์จีดีพีในภูมิภาคฯ ติดลบ 0.5% ขณะที่จีดีพีไทยติดลบ 3-5%
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตในประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งกำลังฟื้นตัวจากความตึงเครียดทางการค้า ถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเงินภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้น
ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า หากสถานการณ์ย่ำแย่ หรือเกิดภาวะช็อกจากโควิด-19 จะทำให้การเติบโตจีดีพีของจีนอาจขยายตัวได้เพียง 0.1% จากคาดการณ์เดิมปี 2562 ว่าจะเติบโต 6.1% ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟฟิกจะติดลบ 0.5% จากประมาณการเดิม 5.8% และคาดว่าจีดีพีไทยจะติดลบ 3-5% จากภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักติดลบ
ทั้งนี้ ภาวะช็อกจากโควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะความยากจนของภูมิภาค โดยธนาคารโลกประเมินว่าจะทำให้มีตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11 ล้านคน จากเดิมคาดว่าปี 2563 จะมีตัวเลขผู้หลุดพ้นความยากจนเกือบ 35 ล้านคน
โดยธนาคารโลกแนะนำว่าให้มีการลงทุนเร่งด่วน เพื่อสร้างความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขและการเตรียมความพร้อมระยะยาว รวมทั้งเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือในรูปแบบใหม่ระหว่างรัฐบาล-เอกชนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการผลิตสินค้าเวชภัณฑ์ที่สำคัญและการบริการต่างๆ ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 สิ่งสำคัญ คือ ควรจะต้องมีการเปิดนโยบายทางการค้าเอาไว้ เพื่อให้ทุกประเทศมีเวชภัณฑ์และสินค้าอื่นๆ ไว้ใช้และเป็นการช่วยให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ได้เสนอแนะการลดหย่อนสินเชื่อเพื่อช่วยให้ครัวเรือนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้โดยไม่มีปัญหา และช่วยประคองให้ธุรกิจต่างๆ รอดพ้นจากภาวะดังกล่าวซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาคครัวเรือนที่ต้องพึ่งพาภาคธุรกิจ