ธนาคารไทยเครดิตฯมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ลูกค้านาโนและไมโครเครดิตฟรีนาน 90 วันชดเชย 100,000 บาท พร้อมเผยผลสำรวจสำรวจโควิด-19 กระทบธุรกิจนาโนหนัก
นายรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี 90 วัน โดยไม่มีระยะเวลารอคอย ชดเชย 100,000 บาท ให้แก่ลูกค้านาโนและไมโครเครดิตของธนาคารกว่า 170,000 รายทั่วประเทศ รับประกันโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากข้อมูลของธนาคาร กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยนาโนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ และส่วนใหญ่เป็นเสาหลักหารายได้จุนเจือทั้งครอบครัว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ประกันคุ้มครองนี้จะช่วยประคับประคองเสถียรภาพทางการเงินของครอบครัวเพื่อจัดการกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารเองยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามนโยบายของภาครัฐ
"เราทราบดีว่ากลุ่มธุรกิจนาโนเป็นกลุ่มที่เปราะบาง และที่สำคัญไม่มีเกราะป้องกันใดๆ ที่จะช่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น เพื่อปกป้องลูกค้าของเรา ธนาคารจึงมอบกรมธรรม์ประกันภัยฟรีให้กับลูกค้านาโนและไมโครเครดิต โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องลงทะเบียน หรือส่งเอกสารใดๆ เพียงแค่ลูกค้าได้รับ SMS ความคุ้มครองก็จะเริ่มตามกรมธรรม์ และสามารถดูรายละเอียดการเคลมได้ผ่านข้อมูลในเว็บไซต์ของธนาคาร และเราหวังอย่างยิ่งว่าสถานการณ์เลวร้ายนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน"
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังเผยผลสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อธุรกิจนาโนและไมโคร จากการสุ่มตัวอย่างพ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย ในช่วงวันที่ 19 - 20 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า
- 93% ของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทำให้รายได้ต่อวันลดลงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตลาดในกรุงเทพมหานคร โดยเฉลี่ยลดลงอยู่ระหว่าง 53 - 76% ต่อวัน
-รายได้เฉลี่ยรวมต่อวันของพ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศลดลงจาก 8,581 บาท เหลือเพียง 4,148 บาท หรือ 52% พ่อค้าแม่ค้าในตลาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สูญเสียรายได้ต่อวันมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ลดลงถึง 68%
-จำนวนลูกค้าต่อวันทุกภูมิภาคเฉลี่ยลดลง 61% โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดภาคตะวันตก เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เป็นต้น ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยผู้บริโภครายวันหายไปกว่า 76%
-ผลกระทบจากผู้บริโภคในตลาดลดลง ทำให้ร้านค้าในตลาดซบเซา ธุรกิจที่รายได้หดหายลดฮวบมากที่สุดถึง 70% คือ ธุรกิจแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รองลงมาคือ 2 ธุรกิจที่รายได้ลดลงเฉลี่ยเท่ากันที่ 66% ได้แก่ ธุรกิจบริการเฉพาะ เช่น ร้านเสริมสวย ร้านนวดและสปา ร้านตัดเสื้อ และธุรกิจดอกไม้สดและจัดสวน เช่น ร้านขายพวงมาลัย เป็นตัน ธุรกิจอันดับ 3 ที่รายได้ลดลงกว่า 48% คือ ร้านโชว์ห่วย หรือมินิมาร์ท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคเลือกที่จะตัดการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกก่อน
-ผู้ประกอบการนาโนและไมโครเครดิตกว่า 1,100 ราย ยอมรับว่าต้องเผชิญกับปัญหาราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่พ่อค้าและแม่ค้ากว่า 500 ราย ยังคงสามารถหาวัตถุดิบที่ราคาเท่าเดิมได้อยู่
- วิธีรับมือในการพยุงธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด 34% ของจำนวนพ่อค้าแม่ค้าทั้งหมดยอมรับว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีวิธีรับมืออย่างไร ในขณะที่ 24% ตัดสินใจลดต้นทุน อีก 12% พยายามหาสินค้าอื่นมาขายเพิ่มเติม และ 10% วางแผนขอกู้เพิ่ม
นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ค้ามีข้อเสนอแนะเพื่อขอบรรเทาความเดือดร้อน โดย 48% ของข้อเสนอแนะ อยากให้มีการพักชำระหนี้ 16% เสนอให้มีเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) 8% อยากให้มีการลดค่างวดหรือลดดอกเบี้ย ในขณะที่ส่วนที่เหลือต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ และอื่นๆ
"ลูกค้าคือคนสำคัญสำหรับเรา ไม่ว่าธุรกิจเขาจะเล็กแค่ไหน เราก็จะต้องดูแลลูกค้าของเราให้ดีที่สุด เพราะเราเชื่อว่า Everyone Matters และเราจะยืนหยัดภายใต้คำมั่นสัญญาต่อแบรนด์ของธนาคาร ใครไม่เห็น เราเห็น"นายรอยกล่าวปิดท้าย