ไทยพาณิชย์เผยพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้มีแนวโน้มทรงตัว หรือลดลง 2-3% สินเชื่อใหม่ตั้งเป้า 5 หมื่นล้าน ลดลงจากปีก่อนที่ 5.8 หมื่นล้าน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมจับมือพันธมิตร "ททท.-ATTA-THA" ออกมาตรการช่วยลูกค้า
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)กล่าวว่า ธนาคารได้ออก 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเร่งด่วน ได้แก่ "ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน" โดย "ช่วยพัก" เป็นการพักชำระเงินต้นให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระในเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกอบการ ลำดับต่อไป "ช่วยขาย" โดยร่วมกับพันธมิตร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดงาน SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกว่า 50 รายที่ได้รับผลกระทบเสนอขายแพกเกจ มอบส่วนลดสูงสุดถึง 60% สำหรับโรงแรม ที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว และร้านอาหาร ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันนี้-28 กุมภาพันธ์นี้ และจะนำผู้ประกอบการไปโรดโชว์กับพันธมิตรรายอื่น เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทโอสถสภา ปตท. เป็นต้น
และช่วยลดต้นทุนในระยะยาวผ่านการทำ Business Matching เพื่อให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน รวมทั้งคู่ค้าผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบบริหารจัดการห้องพัก ระบบประหยัดพลังงาน เป็นต้น
"ทั้ง 3 มาตรการถือเป็นมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยให้พักชำระหนี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาในระยะยาวก็คือ การขยายตลาด และการบริหารต้นทุน ลดต้นทุน ทำให้ตัวเบาเพื่อให้สามารถสู้กับการแข่งขันหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ซึ่งการเลือกธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยวนั้น เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทันที แล้วถึงจะต่อเนื่องไปถึงกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านขายสินค้าที่ระลึก รถรับจ้าง เป็นต้น และกลุ่มสุดท้ายจะเป็นลูกจ้างลามไปถึงกำลังซื้อโดยรวมก็จะลดลง ซึ่งเท่าที่สำรวจดูธุรกิจก็เริ่มที่จะลดชั่วโมงการทำงานลงบ้างแล้ว"
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดไตรมาสต่อไตรมาส พร้อมกันนั้น ธนาคารก็ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว จากพอร์ตรวมเอสเอ็มอี (ยอดขาย 75-100 ล้านบาทต่อปี) ของธนาคารที่มีอยู่ ณ สิ้นปี 2562 ประมาณ 260,000 ล้านบาท มีประมาณ 50% ที่ธนาคารต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือพักชำระหนี้ โดยเบื้องต้นจะให้พักชำระหนี้ 6 เดือน และจะพิจารณาสถานการณ์ต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อเพื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้นคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ 8.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนที่ระดับ 8.3%
นางพิกุล กล่าวอีกว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก เพราะแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 62 ที่มียอดขอสินเชื่อลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 50% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการไม่ค่อยจะลงทุนเพิ่ม จะเน้นประคองธุรกิจที่ทำอยู่ให้ดีเป็นหลัก โดยเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ในปีนี้อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 58,000 ล้านบาท ขณะที่ยอคคงค้างรวมน่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยประมาณ 2-3%
"เอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แม้ผู้ประกอบการประสบปัญหาอยู่ เป็นเพราะเรามีมาตรการดังกล่าวที่เริ่มตั้งแต่การพักชำระหนี้ 6 เดือน หาก 6 เดือนแล้วปัญหายังไม่คลี่คลายธนาคารก็พร้อมที่จะช่วยต่อไป อย่างที่มาตรการที่ออกมาคือ สูงสุด 12 เดือน แล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนการปล่อยกู้เพิ่มมีบ้าง ก็จะช่วยด้านสภาพคล่องไป จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป"