ซีไอเอ็มบีไทย เปิดให้บริการซื้อตราสารหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน ประเดิมหุ้นกู้แสนสิริ อายุ 3 ปี 8 เดือน ดอกเบี้ยคงที่ 3.75% เปิดจองซื้อ 24-26 ก.พ.นี้ ตั้งเป้ามียอดซื้อผ่านแอปปีนี้ 4 หมื่นล้าน แนะช่วงปัจจัยเสี่ยงสูงเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
น.ส.ดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารผลิตภัณฑ์การออม และกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารจะเปิดบริการจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหลักของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ลูกค้าสามารถจองซื้อหุ้นกู้จากที่บ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ได้ โดยขั้นตอนการจองซื้อไม่ซับซ้อน เพียงเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย แล้วดาวน์โหลดแอป CIMB THAI Digital Banking มาไว้ในมือถือ โดยนักลงทุนต้องมีเงินในบัญชีของธนาคารเพียงพอต่อการชำระหุ้นกู้ซึ่งในเบื้องต้น กำหนดที่ 100,000 บาท ถึง 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ หุ้นกู้รุ่นแรกที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้จองซื้อผ่านแอป ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2563 SIRI23OA อายุ 3 ปี 8 เดือน ดอกเบี้ยคงที่ 3.75% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้ ความเสี่ยงของหุ้นกู้ระดับ 4 และอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2562 เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยจองซื้อได้ทั้งช่องทางสาขา และแอปพลิเคชัน พร้อมกันระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.2563
"ปีนี้เป็นอีกปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก จากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง การปรับลดวงเงินค้ำประกันเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ทำให้เราต้องบริหารจัดการพอร์ตด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ธนาคารแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้น อย่างกรณีลูกค้ากลุ่ม Defensive แนะนำให้เพิ่มเป็น 70-80% ของพอร์ตรวม และหุ้นกู้ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และการซื้อขายผ่านแอปของธนาคารก็ทำให้ลูกค้าสะดวกขึ้น"
สำหรับภาพรวมการออกและเสนอขายหุ้นกู้ภาคเอกชนในปีที่ผ่านมาถือว่าทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้เอกชนในปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 1.02 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการออกเพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด จำนวน 6.6 แสนล้านบาท และเป็นการออกใหม่ จำนวน 3.6 แสนล้านบาท มาในปี 2563 จะมีหุ้นกู้เอกชนที่ครบกำหนด มูลค่ารวม 7 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับการออกหุ้นกู้ใหม่ คาดว่าจะมีหุ้นกู้ภาคเอกชนออกและเสนอขายให้แก่นักลงทุนตลอดทั้งปีเช่นเดิม
น.ส.ดุษณี กล่าวอีกว่า ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายยอดการซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-30% ของยอดขายรวมที่ 90,000-100,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปเป็น 80% ในอีก 3 ปีข้างหน้า การเพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองได้ในอนาคตด้วย
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมจาก Investment Product นั้น ในปีนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 30-40% โดยส่วนใหญ่ 50% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายตราสารหนี้นั้นคิดเป็นสัดส่วน 5-8% เท่านั้น