สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 4/62 ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ส่งผลทั้งปีขยายตัวเพียง 2.4% พร้อมคาดปี 63 ขยายตัว 1.5-2.5%
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 ขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส จากผลกระทบสงครามการค้า และการส่งออกที่ลดลง 4.9% ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.4% ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 3.2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การลงทุนรวมขยายตัว 2.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.8% ของจีดีพี
ขณะที่แนวโน้มปี 2563 คาดจีดีพีไทยจะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามปัจจัยเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ ส่วนปัจจัยหนุน คือ การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวในการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนและรัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการรัฐ และการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 พร้อมคาดการณ์การส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 1.4% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.5% และการลงทุนรวมจะขยายตัว 3.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.4-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.3% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สศช. ระบุว่า หาก GDP ไทยปี 2563 จะขยายตัวได้ในกรอบกลางที่ 2% จะอยู่ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัว 2% การแพร่ของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงเดือนพฤษภาคม ทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวรวม 37 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.73 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อการผลิตของภาคเกษตรลดลงเพียง 5% และไม่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่วนการเบิกจ่ายงบรวมอยู่ที่ 91.2% โดยมีการเบิกจ่ายงบประจำ 98% และงบลงทุน 65%