xs
xsm
sm
md
lg

“ศุลกากร” ดัน 5 มาตรการเอื้อการค้าระหว่างประเทศ หวังเวิลด์แบงก์ให้คะแนน Doing Business ปีนี้ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรมศุลกากร” ชู 5 มาตรการทางศุลกากร หวัง “เวิลด์แบงก์” พิจารณายกอันดับความยาก-ง่ายการทำธุรกิจในมิติด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย “โฆษกกรมศุลกากร” มั่นใจ คะแนนในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว เหตุพยายามพิจารณามาตรการที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายและระยะเวลา เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการพิจารณาจัดอันดับของเวิลด์แบงก์ ย้ำโควิค-19 ไม่กระทบเป้าจัดเก็บรายได้ศุลกากรปีงบฯ 63 ที่ตั้งไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าของกรมศุลกากร ว่า ในปีนี้จะเป็นช่วงที่ธนาคารโลกจะทำการสำรวจความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Doing Business 2021 : Trading Across Border) โดยในส่วนของกรมศุลกากรที่เป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับมิติในเรื่องการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจจากธนาคารโลก

ดังนั้น ในปี 63 กรมศุลกากรจึงได้จัดทำ 5 มาตรการที่จะเสนอให้ธนาคารโลกได้พิจารณา โดยกรมศุลกากรมีความมั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวจะมีผลโดยตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการผ่านพิธีการทางศุลกากร รวมทั้งจะทำให้อันดับ Doing Business ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยได้คะแนนที่ดีขึ้นได้ในปีนี้ ส่วนอันดับนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าประเทศอื่นๆ จะมีการพัฒนามาตรการไปได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับด้านการค้าระหว่างประเทศไว้ที่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และคาดหวังว่าไทยจะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม โฆษกกรมศุลกากร ย้ำว่า ได้พยายามพิจารณามาตรการที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายและระยะเวลา เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางในการพิจารณาจัดอันดับของธนาคารโลก

สำหรับมาตรการทั้ง 5 มาตรการนั้น จะประกอบไปด้วย 1.กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre - Arrival Processing : PAP) โดยให้สายการเดินเรือหรืออากาศยาน ได้ยื่นข้อมูลล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งการให้ตัวแทนยื่นข้อมูลล่วงหน้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกหรือตัวแทนการออกของสามารถยื่นใบขนสินค้าออกได้เร็วขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา และทำให้ระบบของกรมศุลกากรช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีความต้องการออกของเร่งด่วน เช่น ของสดที่เน่าเสียได้ง่าย สามารถส่งใบขนสินค้าและชำระอากรล่วงหน้าก่อนที่เรือหรืออากาศยานจะมาถึง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการนำเข้า อีกทั้งสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง และสามารถติดต่อเพื่อรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือหรืออากาศยานมาถึง (กรณี Green Line)

2.มาตรการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรได้เปิดให้บริการระบบ e-Bill Payment โดยผู้ประกอบการสามารถชำระเงินการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน โดยมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 ธนาคาร และ 2 ตัวแทนรับชำระ ทำให้ลดเวลา 3 ชั่วโมง/ครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมง/ปี และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาท/ครั้ง หรือ 513 ล้านบาท/ปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร

3.มาตรการไม่เรียกไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท 4.มาตรการลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Based Management on Profile) โดยพัฒนาแฟ้มบริหารความเสี่ยงในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ สำหรับสินค้าที่มัดลวดเพื่อไปตรวจที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ตามพิกัด 87.08 ลดลงจากการทำสำรวจเมื่อต้นปี 62 ซึ่งเคยอยู่ที่ 37% ลงมาเหลือ 26% ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตกรมศุลกากรยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอัตราการเปิดตรวจให้มีระดับที่ต่ำกว่า 20% ด้วย

และ 5.มาตรการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE - THROUGH X-RAY SCANNER) เป็นเทคโนโลยีในการเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ยานพาหนะขนส่งสินค้า รวมทั้งยานพาหนะโดยสาร สามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 30 ตู้/ชั่วโมง คิดเป็น 5 เท่า ทำให้สามารถลดระยะเวลาการติดต่อของผู้ประกอบการลดลง ลดระยะเวลาการเอกซเรย์สินค้า ระยะเวลาการรอคอยและระยะเวลาความแออัด ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ โดยกรมศุลกากรคาดว่าภายในเดือน มี.ค.63 จะสามารถใช้เครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่านเพิ่มเติมอีก 2 เครื่องได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

อย่างไรก็ตาม นายชัยยุทธ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า แม้จะส่งผลให้เกิดการชะลอการผลิตในจีนบ้าง โดยการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบจากไทยไปจีน และจากจีนมาไทยจะได้รับผลกระทบแค่เพียงช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รวมของกรมศุลกากรในปีงบประมาณ 63 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้จริงในปีงบประมาณ 62 ที่มีทั้งสิ้น 1.08 แสนล้านบาท โดยเทียบจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.05 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น