xs
xsm
sm
md
lg

คาดจีดีพีไตรมาสแรกปี 63 โตเพียง 0.5-0.8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หอการค้าไทย ประเมินจีดีพีไตรมาส 1/63 ขยายตัวเพียง 0.5-0.8% จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 และภัยแล้ง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า จีดีพีไตรมาส 4/2562 จะขยายตัวไม่ถึง 2% ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีประเมินไว้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 200,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบ ไม่เป็นผลเพราะประชาชนไม่ได้มีการใช้จ่ายมากที่ควร

ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 มองว่า จะขยายตัวได้เพียง 0.5-0.8% เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนา ภาวะฝุ่น PM 2.5 และปัญหาภัยแล้ง ทำให้เม็ดเงินหายจากระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งกระทบตัวเลขจีดีพี 1-1.5% พร้อมหวังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะจบลงภายในเดือนมีนาคมหรือเมษายน และรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม เพื่อกระตุ้นให้ตัวเลขจีดีพีโต 2-3% ต่อไตรมาส ซึ่งจะหนุนให้จีดีพีปี 2563 โตได้ 2.8% ตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมกราคม 2563 พบว่า อยู่ที่ระดับ 45.4 จุด ปรับตัวลดลง 0.3 จุด จากเดือนธันวาคม 2562 โดยเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยกลุ่มที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมากสุด คือ ภาคการเกษตร ภาคการบริโภค และภาคการค้า จากปัจจัยลบ คือ การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2562 ลดลง 1.28% SET Index เดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลง 65.70 จุด จาก 1,579.84 ณ สิ้นเดือนธันวาคมมาอยู่ที่ 1,514.14 ณ สิ้นเดือนมกราคม 63 ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับอ่อนค่า การเบิกจ่ายงบประจำปี 2563 ล่าช้าส่งผลต่อความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 การแพร่ระบาดของเชื่อโควิด-19 รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่ปัจจัยบวกเดือนมกราคม ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประชาชนและภาคธุรกิจยังไม่มีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น