xs
xsm
sm
md
lg

โคโรนาไวรัสระบาด ฉุดธุรกิจสายการบินในไทยลง คาดทั้งปี 2563 หดตัว 4.3%-6.2%​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ธุรกิจสายการบินกำลังเจอโจทย์ท้าทายอย่างหนัก เนื่องจากการแข่งขันตัดราคาจนอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวะดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2562 เหลือเพียง 3.14 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2563 นี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านการแข่งขันตัดราคา และดีมานด์ชะลอตัวแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจสายการบินลงไปอีก โดยมูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินจะหดตัวลงเหลือมูลค่าเพียงประมาณ 2.9-3.0 แสนล้านบาท ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากธุรกิจสายการบินสามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ในปีนี้ไปได้ ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจสายการบินจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะการแข่งขันด้านราคาเริ่มมีแนวโน้มลดความรุนแรงลง เนื่องจากสายการบินราคาประหยัดเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันเป็นการสร้างแบรนด์และเสนอบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น ส่วนสภาวะดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินยังพอขยายตัวได้ แต่คงไม่กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนในช่วงปี 2559-2561 คาดว่ามูลค่าตลาดสายการบินจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง แต่ยังคงต้องใช้เวลาและการเติบโตของมูลค่าตลาดเป็นไปอย่างช้าๆ

หลังจากที่ประเทศไทยเปิดเสรีน่านฟ้า สายการบินหน้าใหม่ก็เข้ามาในตลาดไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจสายการบินต้องเผชิญโจทย์ท้าทายอย่างหนัก ซึ่งต้นตอของปัญหาอยู่ที่การแข่งขันตัดราคา ที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจสายการบินจะมีการแข่งขันตัดราคากันอย่างรุนแรง จนทำให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง แต่ดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็เป็นปัจจัยหนุน ทำให้มูลค่าตลาดของธุรกิจสายการบินยังขยายตัวได้ แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป ในปี 2562 ที่ผ่านมา ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินในประเทศหดตัวเป็นครั้งแรก โดยหดตัวลง 3.5% ในขณะที่ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินหดตัวเป็นครั้งแรกเหลือมูลค่าเพียง 3.14 แสนล้านบาท ในปี 2562 และในปี 2563 นี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านการแข่งขันตัดราคา และดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินในประเทศที่ยังคงหดตัวแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อไวไรโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน ก็อาจส่งผลให้ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ภายใต้กรอบสมมติฐานว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนจะมีระยะเวลาเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อ (1) จำนวนนักเดินทางจีนที่มาไทย (2) จำนวนนักเดินทางไทยที่ไปจีน (3) จำนวนนักเดินทางต่างชาติอื่นๆ ที่มาไทย ดังต่อไปนี้

(1) จำนวนนักเดินทางจีนที่มาไทย โดยเฉลี่ย 70% เป็นนักท่องเที่ยว 30% เป็นนักธุรกิจ ซึ่งผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่อการเดินทางเพื่อทำธุรกิจมองว่ามีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวไทยเสียมากกว่า ในช่วงตรุษจีนปี 2562 (เดือนกุมภาพันธ์) มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย 1.06 ล้านคน และในเดือนอื่นๆ เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเดือนละประมาณ 9 แสนคน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกทัวร์จีนทั้งหมด จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในช่วงเดือนตรุษจีน (ปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) ปีนี้ลดลงประมาณ 50% หรือ 550,000 คน ในเดือนแรก และสถานการณ์จะค่อยๆ คลี่คลายลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในที่สุด ซึ่งจะทำให้อัตราอัตราบรรทุกผู้โดยสารของสายการบินในไทยสำหรับเที่ยวบินไทย-จีน ลดลงเหลือ 40%-50% ในช่วงไตรมาสแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยจะลดลงรวมตลอดทั้งปีประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่มาในปี 2562 คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 1.1 ล้านคน หรือคิดเป็นผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินในไทยลดลง 2.2 ล้านคนเที่ยว ประกอบกับ สายการบินในไทยมีส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน คิดเป็นประมาณ 30%-40% ของมูลค่าตลาด ดังนั้น มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินที่สูญเสียไปจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นมูลค่า 4,300-5,800 ล้านบาท

(2) จำนวนนักเดินทางไทยที่ไปจีน ประมาณ 70% เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนประมาณ 600,000 คนในปี 2562 หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 50,000 คน คาดการณ์ว่า ผลกระทบในเดือนแรกจะทำให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปจีนลดลง 50% หรือ 25,000 คน และสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายจนกลับสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปจีนจะลดลงรวมตลอดปีประมาณ 50,000 คน รวมกับนักธุรกิจไทยที่คาดว่าจะเดินทางไปจีนลดลงประมาณ 5,000 คน คิดเป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในไทยลดลง 55,000 คน หรือ 110,000 คน/เที่ยว ประกอบกับ สายการบินในไทยมีส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน คิดเป็นประมาณ 30%-40% ของมูลค่าตลาด ดังนั้น มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินที่สูญเสียไปจากกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็นมูลค่า 300-400 ล้านบาท

(3) จำนวนนักเดินทางต่างชาติอื่นๆ ที่จะมาไทย แล้วเปลี่ยนใจไปท่องเที่ยวที่อื่น เพราะเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ คือ นักท่องเที่ยวจากยุโรป นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (ไม่รวมจีน) นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีแนวโน้มทรงตัวในปีนี้ ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้เดินทางมาไทยรวมประมาณ 14.88 ล้านคน ส่วนปีนี้ประมาณการเดิมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 2% หรือคิดเป็นประมาณ 15.17 ล้านคน แต่เมื่อเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะลดลง 5% ในไตรมาสที่ 1 ก่อนที่จะกลับมาเติบโตที่ 2% เหมือนเดิมในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 14.85 ล้านคนในปีนี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 320,000 คน หรือประมาณ 640,000 คน/เที่ยว ประกอบกับ สายการบินในไทยมีส่วนแบ่งตลาดของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 25%-35% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ดังนั้น มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินที่สูญเสียไปจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 3,100-4,400 ล้านบาท

กล่าวโดยสรุป ในปี 2563 มูลค่าธุรกิจสายการบินจะยังหดตัวลงอีก 4.3%-6.2% เหลือมูลค่าเพียง 2.94-3.00 แสนล้านบาท และค่าเฉลี่ยของอัตราบรรทุกผู้โดยสารจะลดลงเหลือ 72.0%-73.4% ซึ่งโดยปกติ สายการบินในไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80% นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์มูลค่าธุรกิจสายการบินนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะมีระยะเวลาเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยาวนานมากกว่านี้ ก็อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมูลค่าธุรกิจสายการบินในไทยมากกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะเฝ้าติดตามและอัปเดตสถานการณ์เป็นระยะๆ

แนวโน้มระยะ 3-5 ปีของธุรกิจสายการบิน

ทั้งนี้ ธุรกิจสายการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมนี้ และหากการเข้ามาในตลาดของสายการบินราคาประหยัดเป็นจุดกำเนิดของการแข่งขันด้านราคา ตัวกำหนดทิศทางการแข่งขันภายในธุรกิจสายการบินจึงต้องขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การแข่งขันของสายการบินราคาประหยัดเหล่านี้ ว่าจะยังมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคา หรือมุ่งเน้นความแตกต่างด้านการให้บริการ จะเห็นได้ว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สายการบินราคาประหยัดเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันเป็นการสร้างแบรนด์ โดยเน้นการสร้างรายได้จากการบริการระดับพรีเมียม เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็ว จึงทำให้แนวโน้มการแข่งขันด้านราคาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ดังจะเห็นได้จากอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย (คำนวณจากรายได้เฉลี่ยต่อที่นั่งต่อกิโลเมตรที่บิน) ที่เริ่มปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยในระยะหลังๆ จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกให้แก่ธุรกิจสายการบินว่าการแข่งขันด้านราคาจะเริ่มทุเลาลงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อการแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดความรุนแรงลง ปัญหาต่อมาของธุรกิจสายการบินก็ยังอยู่ที่ดีมานด์การเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดีมานด์การเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศจะกลับมาขยายตัวได้ภายในปีหน้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนเกือบ 40 ล้านคนต่อปี การจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้อย่างก้าวกระโดดคงจะทำได้ยาก เพราะศักยภาพของสนามบินและศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของไทยยังมีอยู่จำกัด จึงคาดว่าอัตราการขยายตัวของดีมานด์เที่ยวบินระหว่างประเทศคงไม่สูงมากนัก ดังนั้น สภาวะดีมานด์ชะลอตัวจะยังเป็นโจทย์ท้าทายธุรกิจสายการบินในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น