“คลัง” อัดฉีดอีก 4.5 พันล้านบาท ออกชุดมาตรการภาษีหนุนธุรกิจภาคการท่องเที่ยว กำหนดให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 พร้อมประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กลุ่มธุรกิจสายการบินสำหรับเที่ยวบินในประเทศจากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.63
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงผลการประชมุคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในปี 63 โดย นายลวรณ กล่าวว่า มาตรการทางการคลังที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นจะประกอบไปด้วย 4 มาตรการคือ
มาตรการแรกคือ การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาภายในเดือน มี.ค.63 โดยให้กำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือน มิ.ย.63 หรือขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ที่มีเงินเดือนและต้องเสียภาษีได้
ส่วนมาตรการที่ 2 คือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ 1 พันราย โดยคิดเป็นเงินภาษีที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายภาษีเองอยู่แล้ว 435 ล้านบาท ขณะที่รัฐจะสูญเสียรายได้จากการจ่ายคืนเงินค่าลดหย่อนภาษีให้เอกชนตามมาตรการนี้ราว 87 ล้านบาท
มาตรการที่ 3 จะเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ เช่น เฟอร์นิเจอร์ มาใช้หักเป็นค่าใช่จ่ายได้ 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายจริง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดหมายว่าจะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ราว 1 พันราย และคิดเป็นเงินลงทุนเพื่อใช้ปรับปรุงกิจการ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะสูญเสียรายได้ในรูปการขอคืนภาษีจากการหักค่าเสื่อมตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปี รวม 2.4 พันล้านบาท หรือราว 120 ล้านบาท/ปี
ส่วนมาตรการที่ 4 จะเป็นมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินฯ ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบินในประเทศจากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.63 โดยกระทรวงการคลังคาดว่า รัฐจะสูญเสียรายได้ราว 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นกล่าวบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบิน อีกทั้งก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการยังได้เคยเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนผู้ให้บริการขนส่งรายอื่นๆ เช่น รถทัวร์ ประสบปัญหาและต้องการให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือแล้ว สามารถเสนอข้อเรียกร้องเข้ามาได้ กระทรวงการคลังพร้อมจะพิจารณาตามความเหมาะสม และภายในระยะเวลาที่จำกัดเช่นเดียวกับกรณีธุรกิจสายการบิน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้และค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปสู่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวด้วย โดยกำหนดให้ธนาคารออมสินขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา แต่สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ขณะที่ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน โดยลูกหนี้ต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังจะผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี เช่นเดียวกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ด้านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จะดำเนินการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักที่ได้รับผลกระทบ
นายลวรณ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้เห็นชอบให้ธนาคารออมสิน ธพว. และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำการปล่อยสินเชื่อวงเงินรวม 1.23 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 3% ให้แก่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้าน นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคธรรมดารออกไปอีก 3 เดือน จะครอบคลุมทั้งในกลุ่มผู้ยื่นแบบเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์ และการยื่นภาษีแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะขอผ่อนชำระเงินภาษีหลังการยื่นแบบแล้ว จะยังสามารถผ่อนชำระภาษีต่อกรมสรรพากรได้ตามปกติ โดยการผ่อนชำระงวดแรกจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 30 มิ.ย.63 ส่วนงวดที่ 2 ภายในวันที่ 31 ก.ค.63 และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 31 ส.ค.63
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เสียภาษีที่ต้องการขอคืนภาษี ยังสามารถยื่นแบบชำระภาษีเข้ามาได้ตลอด โดยในปีนี้ผู้ที่ยื่นภาษีเร็วจะได้ภาษีคืนเร็วหากเอกสารครบถ้วน ซึ่ง ณ เวลานี้มีผู้ขอคืนภาษีเข้ามาแล้วกว่า 7 แสนราย และได้เงินคืนไปแล้วกว่า 5 แสนราย หรือ 73% ของผู้ที่ขอคืนทั้งหมด ซึ่งกรมสรรพากรใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการคืนภาษีประชาชนอยู่ที่ 3-7 วันเท่านั้น โดยเป็นการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์มากกว่า 90% เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วกว่า ส่วนสถิติการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในปีภาษี 61 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 11.7 ล้านราย โดยจำนวนผู้ขอคืนภาษีที่อาจจะมีภาษีที่ต้องชำระและไม่มีภาษีที่ต้องชำระรวมกันทั้งสิ้น 3.7 ล้านราย ส่วนอีกกว่า 7 ล้านรายนั้นจะเป็นการยื่นแบบเพื่อขอชำระภาษี เและยื่นแบบโดยไม่ต้องชำระภาษีเนื่องจากมียอดคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเป็นศูนย์ ส่วนยอดชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 จะมีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท