xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนถล่ม SCB / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ค่ำวันศุกร์ที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB แจ้งงบการเงินไตรมาสที่ 4 และงบการเงินรวมปี 2562 ผ่านตลาดหลักทรัพย์ และทำให้ หุ้น SCB ถูกถล่มขายทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มกราคม จนกลายเป็นชนวนให้เกิดการเทขายหุ้นธนาคารทั้งกลุ่ม

ราคาหุ้น SCB ทรุดฮวบลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย โดยเปิดที่ราคา 104 บาท ลดลง 13 บาท และขยับขึ้นสูงสุดที่ 106 บาท ก่อนจะถูกทุบลงมาปิดที่ 102 บาท และเป็นราคาต่ำสุดของวัน ลดลง 15 บาท หรือลดลง 12.82% โดยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของวัน จำนวนทั้งสิ้น 10,339.65 ล้านบาท หรือเกือบ 20% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นทั้งตลาด

แรงขายที่ถล่มใส่ SCB น่าจะมาจากกองทุนรวมในประเทศ เพราะนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดขายหุ้นสุทธิ 4,895.08 ล้านบาท ส่วนแรงซื้อที่เข้ามารับน่าจะมาจากนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมียอดซื้อหุ้นสุทธิ 5,642.47 ล้านบาท

ทำไมกองทุนจึงเทขายหุ้น SCB เหมือนจะล้างพอร์ต และทำไมนักลงทุนรายย่อยจึงเข้ามาช้อนซื้อ เหมือนได้โอกาสเก็บของถูก คำตอบคือ มุมมองเกี่ยวกับงบการเงินธนาคารแห่งนี้ ระหว่างนักลงทุนสถาบันกับนักลงทุนรายย่อยที่แตกต่างกัน

SCB รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2562 มีกำไรสุทธิลดลง 22.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นจำนวน 5,506 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองลดลง 6.2% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนที่ลดลง หลังจากธนาคารขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ส่วนผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 40,067 ล้านบาท โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองเพิ่มขึ้น 29.9% ซึ่งเป็นผลจากกำไรพิเศษการขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ธนาคารได้ตั้งสำรอง จำนวน 36,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.7% จากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อ และทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 3.41%

กลางปีที่ผ่านมา SCB ได้ขายหุ้นบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินจำนวนทั้งสิ้น 9.27 หมื่นล้านบาท ทำให้มีรายได้จากการขายทรัพย์สิน และทำให้ผลประกอบการปี 2562 มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีรายได้จากการขายทรัพย์สิน ผลกำไรจะชะลอตัวลง

งบการเงินที่ประกาศออกมา แม้ยังรักษาผลกำไรเติบโต แต่ในรายละเอียดของงบการเงิน ได้สะท้อนถึงความน่ากังวลในผลประกอบการปีนี้ โดยเฉพาะตัวเลขเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น จนต้องตั้งสำรองเพิ่มถึง 50% แต่ถ้าไม่มีรายจากการจำหน่ายทรัพย์สิน ผลประกอบการปี 2563 จะเป็นอย่างไร กำไรจะเติบโตหรือไม่

ราคาหุ้น SCB ขณะนี้เป็นราคาต่ำสุดในรอบหลายปี และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีค่า พี/อี เรโช ต่ำกว่า 9 เท่า มูลค่าทางบัญชี 116 บาท อัตราเงินปันตอบแทน 4.70%

แต่เพราะความกังวลในแนวโน้มผลประกอบการที่อาจชะลอตัว จึงเกิดการเทขายจากนักลงทุนสถาบัน

ขณะที่นักลงทุนรายย่อยมองว่า ราคาหุ้นลงมาลึก และถือเป็นราคาที่ต่ำมาก ไม่น่าจะลงต่ออีกเท่าใด แต่มีโอกาสดีดกลับขึ้นมาได้ จึงแห่เข้าไปลุยช้อนซื้อ SCB

การถล่มขาย SCB สร้างแรงสั่นสะเทือนไปสู่หุ้นธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ซึ่งพลอยฟ้าพลอยฝนถูกเทขายจนราคารูดตามไปด้วย

แม้ BBL และ KBANK ยังไม่ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 และผลประกอบการรวมปี 2562 แต่เป็นที่คาดหมายว่า ผลประกอบการไม่น่าจะออกมาดีนัก เพราะปีที่ผ่านมา เจอปัญหาไม่แตกต่างจาก SCB และปีนี้แบงก์เกือบทั้งกลุ่มจะตกอยู่ในสภาพเดียวกันต่อไป

เพราะสินเชื่อจะไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากแต่ละธนาคารควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด เพราะกลัวปัญหาหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อรายได้จากดอกเบี้ย

และแม้จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อ แต่แนวโน้มหนี้เสียมีโอกาสเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และหนี้ภาคธุรกิจเอกชนทั่วไป ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกับปีก่อน ทำให้ ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก

ปี 2562 หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ถูกขาย ราคารูดลงตลอดทั้งปี จนนักลงทุนบางคนคิดว่า ราคาหุ้นปรับฐานรับข่าวร้ายหมดแล้ว

แต่การถล่มขายหุ้น SCB ฉุดหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ตัวอื่นดิ่งตามไปด้วย อาจสะท้อนให้เห็นว่า ราคาหุ้นแบงก์ยังไม่ได้ซึมซับรับความคาดหมายในแง่ร้ายไปทั้งหมด

การปรับฐานใหญ่หุ้นกลุ่มแบงก์ในรอบนี้ อาจยังไม่สะเด็ดน้ำหรือยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และไม่ควรผลีผลามเข้าไปสวนหมัดกับแรงขายของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนในหรือกองทุนนอก






กำลังโหลดความคิดเห็น