xs
xsm
sm
md
lg

PM 2.5 ภัยร้ายคนเมือง อสังหาฯ แนะรัฐเร่งแก้ทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคอสังหาฯ แนะรัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นตอปัญหา วอนแก้ทั้งระบบ พ้องานก่อสร้างยุคใหม่ปิดไซต์มิดชิด ฝุ่นน้อย พร้อมเสนอรัฐออกกฎคุมก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ฝุ่น PM 2.5 กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมืองในปัจจุบัน PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ ตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

PM 2.5 มาจาก 2 แหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต 2.การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg) แคดเมียม (Cd) อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

อุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งในจำเลยที่ก่อมลพิษฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูงที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด หลายคนมองว่างานก่อสร้างเป็นต้นเหตุสำคัญ เพราะงานก่อสร้างถือเป็นอุตสาหกรรมก่อให้เกิดฝุ่นมากที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในย่านใจกลางเมือง ย่านใจกลางธุรกิจ

เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล
นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็ก 70% เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซล ส่วนฝุ่นที่เกิดจากอุตสาหกรรมก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ ไม่สามารถแพร่กระจายเข้าสูร่างกายมนุษย์ได้ ร่างกายสามารถขับออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นประเภทไหนก็ย่อมทำให้เกิดมลพิษและเกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นหรือการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของทุกไซต์งานก่อสร้างที่จะต้องรับผิดชอบในการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นหรือเกิดน้อยที่สุดและป้องกันไม่ให้ฟุ้งกระจาย

ที่ผ่านมา บริษัทให้ความสำคัญต่อการควบคุมการก่อสร้างที่ไม่ทำเกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการปิดคุมไซต์งานก่อสร้างแบบ 100% และบริษัทยังทำงานเป็นระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ช่วยขจัดฝุ่นได้ด้วยการวางแผนการใช้งานว่าจะใช้เมื่อไรอย่างไร เพื่อให้การดูแลง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังระมัดระวังงานที่เป็นจุดกำเนิดฝุ่น เช่น การเทถุงปูน ไม่เปิดถุงปูนทิ้งเอาไว้ ความสกปรกของไซต์งานล้วนทำให้เกิดฝุ่นทั้งนั้น หากมีการดูแลที่ดีก็จะลดปริมาณฝุ่นและไซต์งานก่อสร้างไม่มีฝุ่นได้

ไซต์ก่อสร้างที่ปิดมิดชิด
สร้างมาตรฐานงานก่อสร้างเทียบเท่าญี่ปุ่น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำหนดการทำงานให้แก่แรงงานก่อสร้างให้ทำงานอย่างเป็นระบบ รับผิดชอบในพื้นที่ที่รับผิดชอบจนแล้วเสร็จไม่ทิ้งงานไว้ ทำให้งานในไซต์งานเรียบร้อยมากขึ้น บริษัทตั้งเป้าหมายให้ไซต์งานก่อสร้างของบริษัทมีมาตรฐานเทียบเท่างานก่อสร้างในญี่ปุ่นที่สะอาดเรียบร้อย การทำงานเป็นระบบ

“แม้ว่าฝุ่นจากงานก่อสร้างจะไม่ใช่ PM 2.5 แต่ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบในการช่วยแก้ปัญหา อุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก บริษัทส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบมีการควบคุมมลพิษที่ดี ไซต์งานก่อสร้างในปัจจุบันสะอาดกว่าในอดีตมาก แต่อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างของไทยยังแข่งขันกันด้วยราคาเมื่อรับงานมาในราคาถูก ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายแต่จะไปลดอิฐ หิน ปูนทรายก็ไม่ได้ ก็จะไปลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการป้องกันต่างๆ ก่อนเสมอ ดังนั้น สิ่งที่จะบังคับให้ทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกันได้คือ กฎระเบียบ การควบคุมด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่แข็งแรงของอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเกิดความเท่าเทียมกัน” นพ.เชิดศักดิ์ กล่าว

นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 เกิดมาจากการใช้รถยนต์ ดังนั้น รัฐบาลควรแก้ที่ต้นตอสาเหตุของปัญหา ต้องแก้ไขปัญหาที่ระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ให้คนหันมาใช้บริการขนส่งแทนการซื้อรถยนต์มาขับ ไม่ควรแก้ไขที่ปลายเหตุและวางแผนการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า

สภาวิศวกรเสนอ 8 แนวทางแก้ปัญหา PM 2.5

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองพิษขนาดเล็ก PM 2.5 กลายเป็นวิกฤตมลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ สภาวิศวกรจึงเสนอทางออกในการรับมือฝุ่น PM 2.5 ใน 8 มิติ เพื่อลดมลพิษที่เกิดขึ้นในระยะยาวและสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนให้แก่คนไทย ได้แก่

1.ติดตั้งระบบการแจ้งเตือนมลพิษในเมือง สถานการณ์ฝุ่นละอองพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เพราะแต่ละพื้นที่มีความหนาแน่นของฝุ่นแตกต่างกัน ในบางพื้นที่จะมีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นทะลุตั้งแต่ 20-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศปิด แต่เกิดจากมลพิษอากาศที่ปล่อยควันเสียของเครื่องยนต์ดีเซล การก่อสร้าง และจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น ณ สถานีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และในอนาคตเตรียมขยายจุดติดตั้งเพิ่มขึ้น โดยสามารถต่อยอดผ่านการทำแผนที่ตรวจสอบบริเวณที่มีฝุ่นหนาแน่น เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เช่น ระบบการแจ้งเตือนมลพิษในประเทศเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา

2.ผลักดันแนวคิดในการพัฒนาภาษีฝุ่น หากต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว ด้วยการจัดทำมาตรการทางภาษีบังคับใช้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หากองค์กรใดมีการบริหารจัดการการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน ลดปริมาณการเกิดฝุ่น จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องเผชิญต่อการเสียภาษีฝุ่น นอกจากนี้ควรมีการจัดเก็บภาษีสำหรับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำสร้างปัญหามลพิษทางอากาศ หากยานพาหนะมีสภาพเก่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อนำภาษีเหล่านี้มาดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้แก่สุขภาพของคนไทย

3.พัฒนาแอปพลิเคชันแจ้งเตือนปริมาณฝุ่น (Smart Mobility) ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการเมื่อเข้าบริเวณฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาและแบบเรียลไทม์ ตลอดจนเป็นแนวทางป้องกันให้ประชาชนสามารถเตรียมสวมหน้ากาก เมื่อจำเป็นต้องเข้าไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นหนาแน่น และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทย

4.กำหนดพื้นที่เสี่ยง (Risk Area) การเกิดฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยยังจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน หากทุกภาคส่วนไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการกำหนดพื้นที่เสี่ยงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณป้ายรถเมล์เป็นบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นหนาแน่น แต่กลับไม่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ มีป้ายรถเมล์จำนวนถึง 5,000 ป้าย และมีป้ายรถเมล์ที่เสี่ยงต่ออันตรายสุขภาพถึง 1,000 ป้าย ดังนั้น ภาครัฐจึงควรลงทุนติดตั้งพัดลมบริเวณดังกล่าว เพื่อลดปริมาณฝุ่นสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ

5.มาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการฉีดน้ำจากที่สูง การฉีดน้ำล้างถนน และการติดสปิงเกอร์บนตึกสูงเพื่อพ่นละอองน้ำ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่เกิดประสิทธิภาพ เพราะเมื่อละอองน้ำจับตัวกับฝุ่น PM 2.5 แห้งตัวแล้วจะกลับมาเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายเหมือนเดิม ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยจะพบฝุ่นส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ป้ายรถเมล์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น

6.พัฒนาระบบ Big Data เพื่อจัดเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ รวมทั้งบริหารความเสี่ยงของพื้นที่ที่เป็นอันตราย เพื่อคาดการณ์และแจ้งเตือนความหนาแน่นของปริมาณฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อเอื้อต่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ การแจ้งปิดโรงเรียนเฉพาะแห่งที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

7.เตือนภัยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง

8.เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งสภาวิศวกรร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและวัดปริมาณฝุ่น รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ประชาชนให้มีองค์ความรู้เรื่องฝุ่นและการดูแลตัวเองในเบื้องต้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษา เพื่อวิเคราะห์และเสนอทางออกการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว ต่อรัฐบาล เพื่อนำไปพิจารณาและออกเป็นข้อบังคับใช้ในอนาคต โดยสภาวิศวกรพร้อมเป็นหน่วยงานในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ

สิงห์ อินทรชูโต
MQDC นำร่องต้นแบบหอฟอกอากาศ
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ชื่อ “ฟ้าใส” นำร่องภาคอสังหาริมทรัพย์รายแรกของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด ฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง นำร่องที่โครงการ 101 True Digital Park ตอกย้ำกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด ‘for all well-being’ หรือสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้แก่ทุกสรรพสิ่งบนโลก การเปิดตัวหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ ‘ฟ้าใส’ ด้วยเทคโนโลยีหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower)

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center-RISC) โดย MQDC และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า “ฟ้าใส” มีที่มาจากการฟอกอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษให้ใสสะอาด ปลอดฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง หอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริดนี้ คิดและพัฒนาร่วมกับบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park บริเวณ Family Park หน้าอาคารวิสซ์ดอม เอสเซ้นส์ สุขุมวิท ตลอดทั้งปี 2563 เพื่อทำการฟอกอากาศ และเก็บข้อมูลสภาพอากาศ การทำงานของระบบและตัวเครื่องเชิงลึกตลอดปี สำหรับการพัฒนาต่อยอดเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับการทำงานของหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด พัฒนาต่อยอดจากระบบดูดฝุ่น PM 2.5 โดยประสานระบบพลังงานไฮบริด คือ การใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก ซึ่งหลักการทำงานเริ่มต้นจากการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ และแยกฝุ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อการดักจับฝุ่น 3 ชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber ระบบทั้งหมดใช้น้ำ 70 ลิตร ทำให้สามารถฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยระบบอัจฉริยะจะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องต่อความเข้มข้นของฝุ่นละออง จนระดับความเข้มข้น PM2.5 ลดลงถึงเกณฑ์ปกติ โดยทาง RISC ได้มีแผนการพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศให้แก่เมืองอย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา RISC ได้ติดตั้ง “เครื่องฟอกอากาศระดับเมือง” ด้วยเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) ใช้การตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ด้วยการปล่อยประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละอองแล้วดูดเข้าไปติดที่ระนาบที่มีขั้วตรงข้าม อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด ที่ลานกิจกรรมลานระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ และในปีนี้วางแผนย้ายไปติดตั้งเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี ระดับค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในปริมาณสูง เพื่อฟอกอากาศให้แก่ประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนั้น RISC ยังได้วางแผนการวิจัยต่อเนื่องเก็บข้อมูลฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีปริมาณรถยนต์สัญจรหนาแน่นและมีปริมาณฝุ่นจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลมาวิจัยต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องฟอกอากาศระดับเมืองรุ่นต่อไปที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ส.อสังหาฯ จี้รัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระบบ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรหามาตรการรับมือปัญหา PM 2.5 ซึ่งจะวนกลับมาเกิดขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะช่วงเวลาที่จะเกิดฝุ่นอย่างทันท่วงทีและมีมาตรการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่ควรทำแค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือทำแบบขายผ้าเอาหน้ารอด เช่น การฉีดน้ำล้างถนนที่ กทม.ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ได้ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลง หรือหายไปได้

รัฐบาลควรหามาตรการหรือแนวทางให้การแก้ปัญหาที่ต้นกำเนิดของ PM 2.5 โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างโครงการเร่งด่วนต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน และควรใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง เช่น การห้ามรถวิ่งในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือการควบคุมรถที่ใช้น้ำมันดีเซล โดยจะต้องลดปริมาณการเดินทางสู่ท้องถนนช่วงอากาศวิกฤต ลดจำนวนเที่ยว หมั่นตรวจสภาพรถยนต์ เข้มงวดใช้กฎหมายบังคับรถยนต์ที่ปล่อยควันพิษควันดำอย่างจริงจัง สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับในปีที่ผ่านมาและในปีนี้ ภาคอสังหาฯ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น พร้อมกับการป้องกันฝุ่นละออกจากงานก่อสร้าง เช่น การกั้นล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง การเก็บวัสดุก่อสร้างไว้ในที่มิดชิด การทำความสะอาดล้อรถทุกชนิดก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง การฉีดพรมน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่น และการรักษาความสะอาดบริเวณสถานที่ก่อสร้าง ตามระเบียบมาตรฐานงานก่อสร้างเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น