ธปท.พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากพบความผิดปกติของอัตราแลกเปลี่ยน ระบุ 5 ปี ใช้เงินดูแลค่าบาทจนทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าไม่ดูแลจะแข็งกว่าที่เป็นอยู่ ยันติดตามดูแลเงินบาทอย่างใกล้ชิด ขอความร่วมมือเอกชน ราชการ ข่วยดูแลค่าเงินทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า ไม่ได้เป็นผลจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 ที่เป็นการไหลออก
โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาท ซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ โดยหาก ธปท. ไม่ได้เข้าไปดูแล เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นเพียงแค่อาการของปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ คือ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย ดังนั้น การเข้าไปดูแลค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่นๆ ในระยะสั้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยหากสังเกตประเทศอื่นๆ ที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ค่าเงินไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าประเทศไทย เนื่องจากมีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนมากขึ้น และยังช่วยลดความกดดันต่อค่าเงินได้ด้วย
ดังนั้น ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขโดยทุกภาคส่วน โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มการนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่า การลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) และการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันที่ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้การนำเงินออกไปลงทุนทำได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธปท. และภาครัฐ ยังคงติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น