xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ มุ่งขยายดิจิทัลเลนดิ้ง ตั้งเป้ายอดเพิ่มเป็นแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสิกรไทยเผยแนวรุกปี 63 มุ่งขยาย Consumer Finance เจาะกลุ่ม Unbank-อาชีพอิสระ ในช่องทางดิจิทัล เลนดิ้ง พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดคงค้างเป็น 1 แสนล้านบาท รับอาจทำเอ็นพีแอลเพิ่ม แต่จะมีรายได้เพิ่ม พร้อมดัน KPLUS สู่ต่างประเทศ

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)เปิดเผยว่า ในปี 2563 นั้น ธนาคารมีแนวทางที่จะรุกในส่วนของ Consumer Finance มากขึ้น โดยจะลงไปในกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่ม Unbank กลุ่มอาชีพอสิระ ซึ่งจะต้องใช้การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น จากเดิมทีใช้เอกสารรายได้เป็นหลัก จึงต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการพิจารณาหรือสกรอริ่งต่างๆ จากปัจจุบันธนาคารมีลูกค้ากลุ่มนี้น้อยมาก แต่ก็ได้เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และจะต้องพยายามต่อไปเพื่อให้ได้โมเดลที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การให้สินเชื่อแก่กลุ่มดังกล่าวจะทำผ่านช่องทางดิจิทัล เลนดิ้ง โดยช่วงที่ผ่านมา ได้เริ่มทดลองแล้วก็ได้รับผลตอบรับที่ดี มียอดสินเชื่อในช่องทางดิจิทัล เลนดิ้ง 30,000-40,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี และมีเป้าหมายเพิ่มอีก 60,000 ล้านบาท เป็น 100,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้รายได้ (NPL) ของสินเชื่อที่ปล่อยไปก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากค่อนข้างระมัดระวังมาก แต่ในระยะต่อไปจะต้องผ่อนลงบ้าง แต่สินเชื่อประเภทเดียวกันในระบบจะมีเอ็นพีแอลประมาณ 5-6% ซึ่งสูงกว่าปกติของธนาคาร ดังนั้น หากจะทำก็จะต้องชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นรับทราบถึงสาเหตุที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นด้วย

"ในปี 2563 เราจะไปในกลุ่มที่ยังไม่เคยไป อย่าง Consumer Finance ซึ่งปกติไม่ใช่อะไรที่กสิกรฯ จะเข้าไปมากนัก อย่างดีก็แค่บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน แต่คราวนี้เป็นสินเชื่อที่ไม่หลักประกัน โดยลูกค้าขนาดเล็กก็เป็นกลุ่มประมาณคนขับแกร็บ คนขับแท็กซี่ คนทำงานอิสระ ที่ต้องใช้รูปแบบการพิจารณาสินเชื่อต่างจากเดิม เพราะเงินเดือนก็ไม่มีให้หัก รายได้ก็ไม่มีสลิปเงินเดือน ก็ต้องพยายามใช้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น กรณีคนขับแกร็บก็จะพิจารณาจากชั่วโมงการเข้าแอปพลิเคชัน เป็นต้น ซึ่งเรารู้ว่ามีความเสี่ยง แต่มันก็ต้องลองดู มันอาจจะทำได้ก็ได้"

น.ส.ขัตติยา กล่าวอีกว่า อีกโจทย์หนึ่งคือ การผลักดันการออกผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วขึ้นและตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่มีทั้งสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธี Agile ที่จะตั้งทีมในการทำงานให้หัวหน้าทีมนั้นมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยหลักๆ จะตัดสืนใจให้ได้ หรือจะพลาดก็ได้ แต่ต้องรู้เร็ว แล้วก็แก้ไข แล้วก็เรียนรู้กับมัน ขณะที่ผู้บริหารเองก็จะติดตาม รีวิวอยู่ตลอด ตรงนี้จะทำให้ธนาคารได้ผลงานที่เร็ว เพราะจริงๆ แล้วธนาคารมีบุคลากรที่เก่งจำนวนมาก แต่โจทย์คือทำอย่างไรจะผลักดันให้เขาคิดเร็ว ทำเร็วขึ้น ให้ทันผู้บริโภคและคู่แข่ง

"การเป็นสตาร์ทอัปก็มีจุดดี เรารู้ว่าเราต้องเป็นให้เหมือนสตาร์ทอัปที่วิ่งได้เร็ว เรารู้ว่าเป็นช้าง แต่ก็ต้องเป็นช้างที่วิ่งให้เร็ว ช้างก็มีจุดแข็งของช้าง แล้วเรายังอยากเป็นช้างมากกว่าจะทำตัวให้เล็กเพื่อไปให้เร็วเท่านั้น เราเชื่อว่าโลกมีที่พอให้ทุกคนเล่น สตาร์ทอัปก็มีที่ของเขา เราก็มีแต่เราต้องหาจุดที่เหมาะกับเรา อย่าง KBTG ก็มีดีมานด์ในการพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้งอยู่มาก ถ้าธนาคารเอามาทำก็ทำไม่ทัน เพราะฉะนั้น สตาร์ทอัปเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีที่ทำให้เรานำเสนออะไรได้เร็วขึ้น และตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น"

ทั้งนี้ สาเหตุที่ธนาคารหันมารุกในกลุ่ม Consummer Finance นั้น ก็เพื่อเป็นช่องทางหารายได้เพิ่ม จากก่อนหน้านี้ที่ธนาคารจะมีมาร์จิ้นจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันสูงรายได้ลดลงเรื่อยๆ ธนาคารก็ต้องหากลุ่มใหม่ที่เป็นแบบเดียวกับเอสเอ็มอีเมื่อสัก 10 ปีก่อน

ส่วนการขยายลงทุนไปในต่างประเทศก็ยังอยู่ตามเป้าหมายการเป็น Regional Bank โดยจะเน้นไปที่อินโดนีเซียที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง แต่จะเป็นโมเดลอย่างไรขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงความเหมาะสม และเนื่องจากประชาชนในแต่ละประเทศไม่เหมือนกันก็ต้องศึกษาก่อน และการมีพาร์ตเนอร์ก็จะช่วยได้มาก ซึ่งพาร์ตเนอร์ก็ไม่จำเป็นต้องมีสถาบันการเงิน จะเป็นฟินเทค หรือสตาร์ทอัปก็สามารถทำได้ รวมถึงการร่วมเป็นพันธมิตรจะถือหุ้นบางส่วน หรือหากมีความมั่นใจจะถือสัดส่วนที่สูงอย่างกรณี KLINE ก็ทำได้เช่นกัน

"อย่างที่คุณบัณฑูรเคยกล่าวไว้ว่า เดี๋ยวนี้จะทำแบงก์ไม่จำเป็นต้องใช้ไลเซนส์แล้ว เห็นได้จากฟินเทคต่างๆ ก็ทำได้ แต่ฟินเทคจะจำกัดแต่เรื่องการเงิน เราก็เปิดกว้างก้บกลุ่มสตาร์อัปด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นกลุ่มอีคอมเมิร์ซก็ร่วมพันธมิตรได้ เพราะอย่างบางประเทศถ้าเราอยากเข้าถึงรายย่อยจริงๆ ก็ต้องเข้าถึงกลุ่มอีคอมเมิร์ซ หรืออย่างอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัป ยูนิคอร์มาก หากเราเลือกพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินก็อาจจะโดน Disruption ได้ ก็ต้องค่อยๆศึกษาโมเดลกันไป แต่เราจะลงมาที่ Micro มากขึ้น แล้วก็ต้อง Local ด้วย โดยจะเล็งไปที่อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นหลัก ขณะที่การเข้าร่วมทุนก็จะผ่านได้ทั้งจากธนาคาร หรือผ่านเควิชัน หรือบีคอน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีหน้าที่คัดสรรการลงทุนในฟินเทค หรือสตาร์ทอัปที่มีนวัตกรรมเกื้อหนุนกับเรา"

สำหรับธุรกิจต่างประเทศที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะที่จีน ลาว กัมพูชาก็ยังเดินหน้าตามแผนธุรกิจที่วางไว้อยู่ เช่น ที่ลาวก็จะต้องเปิดสาขาเพิ่มหลังได้ใบอนุญาตธนาคารท้องถิ่นมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยที่จีนผลการดำเนินงานก็เริ่มที่จะมีกำไรมา 2 ปีแล้ว แม้จะไม่มากนักแต่ก็มีความคืบหน้าและยังพร้อมที่จะเข้าไปเจาะเซ็กเมนต์ใหม่ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หากสามารถหากลุ่มเป็น Niche Market ได้ ก็จะขยายต่อไปได้ ซึ่งในปีหน้าก็น่าจะมีความคืบหน้า โดยในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจในต่างประเทศนั้น ในอีก 2-3 ปีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ การนำ KPLUS ไปสู่ต่างประเทศก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งในปีหน้า ซึ่งก็ไปพร้อมๆ กับ QR Code ซึ่งขณะนี้เริ่มจะมีในส่วนของการค้าชายแดนต่างๆ แต่ก็จะขยายเข้าไปในส่วนของการท่องเที่ยวโดยเน้นนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากกว่า ซึ่งโจทย์ก็คือ จะทำฟีเจอร์อย่างไรให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้

"ปัจจุบันเงินลงทุนที่ใช้ไปในผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของธนาคารค่อนข้างสูง ขายในประเทศอย่างเดียวไม่คุ้ม ขณะที่เศรษฐกิจของไทยก็เติบโตน้อยลง จึงต้องออกไปหาประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่มากกว่า มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า ซึ่งจากก่อนหน้านี้การออกไปทำธุรกิจต่างประเทศจะเน้นในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก แต่ต่อไปจะมาที่รายย่อยมากขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น