บล.กรุงศรีมองเศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุน ชี้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว แม้จะยังไม่สะเด็ดน้ำจากสงครามการค้า ซึ่งสะท้อนท่าทีคลายตัวลงไปบ้างแล้ว แนะจับตาการลงทุนในตลาดยุโรป เพราะเศรษฐกิจเริ่มมีโมเมนตั้มสะท้อนในมุมมองบวกกลับมาแล้ว ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยโดยกระทรวงการคลังในปีนี้ อาจไม่ช่วยกระตุ้น GDP ได้มากนัก คาดเศรษฐกิจปี 2563 โตเพิ่มจากเดิมได้ประมาณ 0.5%
หลังจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมานานถึงเกือบสองปี ก็เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บวกกับความคาดหวังว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะคลายตัวลงไป
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการฟื้นตัวจะไม่เท่าเทียมกัน และจะยังคงเปราะบางมากในปี 2563 ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนคงระมัดระวังต่อไปตลอดปีนี้ โดยคาดว่าการลงทุนในหุ้นจะ outperform ตราสารหนี้ใน 1H20 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แต่เราคาดว่าความเสี่ยงด้าน downside ของหุ้นจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจาก 1.เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.ราคาหุ้นในตลาดแพง และ 3.ความกลัวว่าจะเกิดความตึงเครียดทางการค้ารอบใหม่ขึ้นอีก
ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินมาตรการทางการคลังที่เหมาะสม (และสามารถปฏิบัติได้) ตลาดหุ้นไทยก็อาจจะ underperform ตลาดอื่น ๆ เพราะอุปสงค์ในประเทศน่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ ภายใต้ scenario นี้ เราชอบหุ้น defensive อย่างเช่นกลุ่มโรงพยาบาล ท่องเที่ยว และ กอง REIT
เศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในโหมดของการฟื้นตัว อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่ตลาดเปิดทำการในปี 2563 ทำให้ประเมินได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่แกว่งตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่คลี่คลายลงไป ซึ่งจากประมาณการล่าสุดของ IMF ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น +3.4% yoy ในปี 2563 จากแค่ +3% (ประมาณการ) ในปี 2562 โดยประเด็นเด่นก็คือปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2% yoy จากแค่ +1.1% (ประมาณการ) ในปี 2562 ซึ่งหมายความว่าตลาดโลกน่าจะอยู่ในโหมด risk-on ต่อเนื่องในเดือนถัด ๆ ไป (ยกเว้นประเทศไทย) ขณะที่ในส่วนของตราสารหนี้มองว่าจะ underperform หุ้น เพราะอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดสหรัฐฯ และจีนน่าจะปรับตัวได้ดีจากภาวะความตึงเครียดทางการค้าที่คลายตัวลง แต่ยังคงแนะนำให้จับตาดูตลาดยุโรป เพราะเศรษฐกิจทางนั้นกำลังเริ่มมีโมเมนตั้ม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือกลุ่มยานยนต์ ซึ่งแสดงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนที่สหรัฐฯ และจีนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป ยุโรปก็จะเป็นภูมิภาคที่ได้อานิสงส์เต็ม ๆ
แนวโน้มของประเทศ G4 ดูดี ยกเว้นญี่ปุ่น
คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวนำในกลุ่มประเทศ G4 โดยจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงที่สุดถึงแม้ IMF จะคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2563 จะชะลอลงเหลือแค่ +2.1% yoy จาก +2.4% ในปี 2019 แต่ที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นดาวรุ่งในปี 2563 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นเป็น +1.4% จาก +1.2% ในปี 2562 สอดคล้องกับมุมมองที่แนะนำให้จับตาดูยุโรปในปี 2563 ซึ่ง ณ จุดนี้ เราพบว่ามีสี่ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปในปี 2563 : 1.สภาวะทางการเงินที่เอื้ออำนวย 2.แรงสนับสนุนจากนโยบายการคลัง 3.แรงส่งจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และ 4.แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของ emerging market
ในขณะเดียวกันเชื่อว่าผู้กำหนดนโยบายของจีนจะสามารถคุมให้เศรษฐกิจจีนปีนี้โตได้อย่างมั่นคงที่ระดับ 6.0% - 6.5% เนื่องจากยังมีกระสุนสำหรับดำเนินนโยบายตุนอยู่อีกอย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของจีนจะอยู่ที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงญี่ปุ่นไปจนกว่าจะเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนจากการขึ้นภาษีการบริโภคซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม
ทั้งนี้ คิดว่านโยบายการคลังที่เพิ่งนำออกมาใช้อาจจะยังไม่พอที่จะกระตุ้น GDP เพราะนโยบายกระตุ้นที่ออกมาส่วนหนึ่งเป็นการสนับสนุนให้มีการซื้อที่ดินซึ่งจะไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าการกระตุ้นโดยนโยบายการคลังจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจปี 2563 โตเพิ่มได้ประมาณ 0.5%