xs
xsm
sm
md
lg

“อาร์เอส” ยังแรงได้ Synergy หนุนแม้ทีวีดิจิทัลฉุดผลประกอบการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา “อาร์เอส” เติบโตเพิ่มจากแรงสนับจากกลุ่มทุนพันธมิตร “บีทีเอส” และ “คิงเพาเวอร์” หลังยกให้ปี2562 เป็นปีทองของบริษัท ด้านหลายฝ่ายเชื่อมั่นธุรกิจ MPC ยังเติบโตก้าวกระโดดผลักดันผลประกอบการขยายตัวเพิ่ม จากช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มเข้ามาไม่หยุด แต่ยังต้องติดตามต้นทุนธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เป็นโจทย์สำคัญต่อการกดดัน และไม่ควรมองข้ามแรง Synergy กับพันธมิตร

แม้ราคาหุ้นในปัจจุบันจะต่ำลงกว่าช่วงต้นปีที่อยู่ระดับ 14.90 บาท/หุ้น (2ม.ค.2562) แต่โดยรวมความนิยมในหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) ในปีนี้ ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปและรายย่อยเป็นอย่างมา ด้วยความคาดหวังในธุรกิจใหม่ จะนำพาบริษัทให้เจริญเติบโตรุ่งเรือง และก้าวพ้นธุรกิจเดิมๆที่อยู่ในทิศทางขาลงมาในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ จนทำให้ราคาหุ้น RS ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก แต่เมื่อผลประกอบการล่าสุด (ไตรมาส 3/62) ออกมาไม่เป็นดังที่คาดหวัง และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาสูงจึงทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลดลง พร้อมกับคำเตือนของนักวิเคราะห์ที่ออกมาติดเบรกชะลอการลงทุนในหุ้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการลงทุนระยะยาว หุ้น RS ยังได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งพร้อมจะให้โอกาสต่อการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัทในอนาคต

ล่าสุดสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ กรณีข่าวลือการเทขายหุ้น RS ของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ซึ่งทางบริษัทออกมายืนยันว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งนี้ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 5.2% ต่อไป โดยไม่มีการลดสัดส่วนลงทุนด้วยเชื่อมั่นพื้นฐานบริษัทแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยบวกสนับสนุนดันธุรกิจ Multi-platform Commerce (MPC) ของบริษัทซึ่งเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เห็นได้จาก RS นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในรอบนี้ คือการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวลดลง โดยการประกาศเจตนาเข้าซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน วงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 15 ล้านหุ้นหรือ 1.54% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. - 1 ก.ค. 2563 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) รวมถึงเพิ่มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ซึ่งเรื่องดังกล่าวแม้จะเรียกได้ว่าเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้บางส่วนชะลอเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัท ด้วยเงื่อนไขการพิจารณาลงทุนที่ไม่นิยมให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเข้ามาทำกิจกรรมที่มีผลกับราคาหุ้น

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ คงกล่าวได้ว่า RS คือแหล่งสะสมกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศ แม้ภาวะเศรษฐกิจจะกดดันผลประกอบการจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง นั่นเพราะกลุ่มทุนขนาดใหญ่อาจมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในบริษัท จนทำให้เจ้าของอาณาจักร RS อย่าง “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 บริษัทยิ้มแก้มปริ เพราะล่าสุดรับทรัพย์เข้ากระเป๋าไปกว่า 1.3 พันล้านบาท เมื่อตัดสินใจตัดขายหุ้นบิ๊กล็อตหุ้น RS จำนวน 4 รายการ รวมทั้งหมด 96 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 13.70 บาท ให้กับพันธมิตรใหม่ แต่หน้าเดิม อย่างกลุ่ม "คิง เพาเวอร์"ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีเมืองไทย ของตระกูล "ศรีวัฒนประภา" จนทำให้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ2 ของบริษัทด้วยสัดส่วน 9.87% ขณะที่เฮียอ้อ เหลือการถือหุ้น 20.79%

กลุ่ม "คิง เพาเวอร์" ให้เหตุผลต่อการกลับเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน RS เป็นคำรบที่2 หลังจากคราวแรกในช่วงปี 2558 มูลค่าประมาณ 940 ล้านบาท ด้วยสัดส่วน 9% ว่าต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อรอรับผลตอบแทน (Passive Investor) เท่านั้น ไม่ได้จะเข้ามาบริหารงาน โดยเชื่อว่าศักยภาพในการต่อยอดความสำเร็จจากธุรกิจสื่อไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคตของ RS จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นทำให้ปี 2562 บริษัทได้พันธมิตรขนาดใหญ่เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจถึง 2 ราย โดยอีกรายนั่นคือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้าซื้อหุ้นจำนวน 70 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 15 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 1,050 ล้านบาท เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาด้วยสัดส่วน 6.06% จึงกล่าวได้ว่าแม้เศรษฐกิจประเทศจะชะลอตัว แต่ก็ไม่สามารถฉุดรั้งความโดดเด่นทางธุรกิจของ RS ได้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ ย้านหมวดซื้อจากหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์มาเป็นหมวดพาณิชย์ในช่วงปลายเดือน มี.ค.2562

ไม่เพียงเท่านี้ หากพิจารณารายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังพบว่า มีนักลงทุนรายใหญ่ (เซียนหุ้น) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน RS ด้วยเช่นกัน อาทิ “โสรัตน์ วณิชวรากิจ” และ “นเรศ งามอภิชน” สิ่งเหล่านี้โดยรวมถือว่าสร้างความน่าสนใจให้แก่หุ้นของบริษัทไม่ใช่น้อย


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นจาก RS ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะการ Synergy ทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่อย่าง BTS และ “คิง เพาเวอร์” ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างผลดีให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยกรณี BTS ถือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC) ของ RS ผ่านเครือข่ายต่าง ๆ ของ BTS ตั้งแต่การโฆษณาสินค้าบนสื่อ VGI, MACO, PLAN การชำระเงินผ่านบัตรแรบบิท หรือการขนส่งสินค้าผ่าน KerryExpress

ขณะที่กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” มีการคาดการณ์ว่าอาจใช้ช่องทาง RS ซึ่งมีหลากหลายทั้งสื่อทีวิดิจิทัลช่อง 8 สื่อวิทยุ และดาราในสังกัด มาช่วยโปรโมตแบรนด์ ผ่านฐานลูกค้าที่มีกว่า 1.2 ล้านราย ส่วน RS ก็อาจนำสินค้า MPC ไปวางจำหน่ายในร้านสินค้าปลอดอากรของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ2 เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของบริษัทด้วย แต่ทุกอย่างยังเป็นเพียงการคาดเดาที่ยังจำเป็นต้องใช้เวลาพิสูจน์

สำหรับแผนธุรกิจที่น่าสนใจของ RS ต่อจากนี้ “พรพรรณ” เตชรุ่งชัยกุล ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจสินค้าและแพลตฟอร์ม RS ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2562 คาดจะขยายตัว 15-20% จากปี 2561 มูลค่ารวม 3.15 ล้านล้านบาท และในปี 2563-65 เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 22% ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต

ปัจจุบัน ยอดขายของธุรกิจ MPC เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดซื้อต่อครั้งของผู้บริโภคอยู่ที่ 2,200 บาท ต่อบิล เพิ่มขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในปีนี้บริษัทได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าในหลากหลายช่องทาง ทั้งช่องทางออนแอร์ช่อง 8 และช่องทีวีดิจิทัลพันธมิตรช่องไทยรัฐทีวี และช่องเวิร์คพอยท์ วิทยุคูลฟาเรนไฮต์ ช่องทางจำหน่ายผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ โทร.1781 ช็อปทันที ส่งฟรีทั่วไทยและช่องทางออนไลน์ Line Official Account@rsmall ซึ่งทุกแพลตฟอร์มมีฐานข้อมูลลูกค้าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถนำข้อมูลลูกค้าแต่ละกลุ่มมาวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นรวมถึงจับมือกับ BTS ในการขยายฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 1.5 ล้านราย ทำให้ปี 2563 บริษัทจะแตกไลน์ เพิ่มสินค้าใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ต่างๆ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของ ผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกช่องทางการจำหน่ายของบริษัทและพันธมิตร ทั้งกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อความงาม เช่น S.O.M.CordyTibet&Bhutan, S.O.M.S-Balance, ผลิตภัณฑ์รังนก Bonback, เครื่องฟอกอากาศ, หมอนสุขภาพ, กระเป๋าเดินทาง ที่จะมาเป็นหัวหอกสำคัญในการทำการตลาด พร้อมเป็นสินค้าโปรดักต์แชมเปี้ยนในอนาคต เพื่อให้สอดรับกับกระแสการช็อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยที่ยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ธุรกิจใหม่ฟอร์มแรงอย่าง MPC ที่บริษัทมุ่งหวังจะให้เป็นเรือธงนำพาบริษัท จะสามารถผ่านบททดสอบสำคัญอย่างต้นทุนขนาดใหญ่จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล ซึ่งทุกวันนี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญต่อการกดดันรายได้และกำไรของบริษัทได้มากน้อยเพียงใด

เนื่องจากมีการประเมินแนวโน้มปี 2563 ว่า หากแยกตามธุรกิจแล้วภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลนั้น คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีจะยังไม่เติบโต ตามภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้าง อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป แต่ด้านต้นทุนจะมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะคาดจะเริ่มได้ผลบวกเต็มปีจาก ม.44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลทำให้บริษัทจะได้งดเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดที่เหลือ ซึ่งจะประหยัดต้นทุนที่ต้องจ่ายไปราว 700 ล้านบาท และจะช่วยให้บริษัทประหยัดค่าตัดจำหน่ายไปราว 63 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันคาดว่าธุรกิจ MPC ของบริษัทจะได้เห็น Synergy ทางธุรกิจกับ BTS และ Workpoint TV มากขึ้น

ที่ผ่านมา RS กับธุรกิจขายสินค้า ถูกตั้งความหวังจากนักลงทุนและสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นมาตลอด เพราะแม้จะมีคู่แข่งตามมาเพียบแต่รายได้ก็เติบโตจนประคองธุรกิจสื่อไปได้ ดังนั้นงบไตรมาส 3/62 ที่ธุรกิจ MPC ออกมาแย่จึงถือเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญสำหรับบริษัทในเวลานี้

ทั้งนี้ หากมองในมุมพื้นฐาน พบว่า ราคาหุ้น RS ปีนี้ ยัง Laggard ตลาดอยู่มาก หลังปรับตัวลงมากว่า 7% โดยระยะต่อไปยังมีหลายปัจจัยให้น่าลงทุน จากการทรานฟอร์มสู่ Data-Driven Entertainmerce พร้อมเตรียมเปิดตัวพันธมิตรใหม่อีก 2 ช่อง ทำให้บริษัทมีช่องทางการขายสินค้าผ่านทีวีดิจิทัลรวมทั้งหมด 4-5 ช่อง เข้าถึงฐานผู้ชมราว 40 ล้านคนต่อวัน

ล่าสุด บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะซื้อเก็งกำไรหุ้น RS โดยวางราคาไว้ที่ 15.60 บาท และไตรมาส 4 ปี 2562 ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ในช่วงเดียวกันปีก่อนยังเห็นการชะลอตัวลงอยู่ โดย MPC เป็นพระเอกต่อเนื่อง เพราะมีการจับมือกับ WORK ในการนำผลิตภัณฑ์ขายผ่านช่อง Workpoint TV ช่อง 23 โดยได้ทดลองขายเมื่อ 1 พ.ย. แบบเดียวกับที่ทำร่วมกับไทยรัฐทีวี พร้อมกับเปิดตัวแบรนด์ "RS Mall" แทน "Shop 1871" เพื่อสร้าง Brand Awareness และใช้ในช่องทางต่างๆ อีกทั้งจะมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ทำให้คาดว่ารายได้ฟื้น แต่อาจยังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า แต่ธุรกิจสื่อโดยรวมจะทรงตัว เนื่องจากช่อง 8 และวิทยุปีก่อนมีฐานรายได้สูงจากการเร่งใช้งบโฆษณาของเอเจนซี ธุรกิจเพลงยังโตจากออนไลน์และการจัดคอนเสิร์ต

ทั้งนี้จากการขยายแนวราบในหลาย Platform ทั้งกลุ่ม BTS, VGI, WORK, ไทยรัฐทีวี ในเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดตัวช่องทีวีดิจิทัลเพิ่ม โดยคาดจะได้พันธมิตรอีก 2 ช่อง ทำให้ในปี 2563 จะมีช่องที่ขายผลิตภัณฑ์ของ RS Mall เป็น 5 ช่อง และจะเห็นความชัดเจน Synergy กับ BTS ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์และการพัฒนา Consumer Product ที่เป็น Mass Product ซึ่งจะขยายกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ในการออกผลิตภัณฑ์หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้ง Mass และ Niche Market ที่จะเป็นสปริงบอร์ดให้กับ RS ในอนาคต ส่วนการขยายในแนวดิ่งผ่านการทำ M&A (OEM/OBM) น่าจะเห็นได้ในเร็วๆ นี้ และมีแผนที่จะทำ M&A เพิ่ม เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับการผลิตสินค้า และพัฒนาให้บริษัทเหล่านั้นมีแบรนด์ของตนเอง เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้กับ RS อีกทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งจากบริษัทที่ได้เข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ช่อง 8 ได้ประกาศปรับผังเพิ่มรายการบันเทิงมากขึ้น โดยช่วง ธ.ค. จะปรับ "รายการข่าว" ก่อน ส่วนปี 63 จับมือพันธมิตรผู้จัดละครและนักแสดงกลุ่มใหม่ๆ ทำละครฟอร์มยักษ์กว่า 10 เรื่อง และซีรีส์ รวมไปถึงวาไรตี้ใหม่ๆ และกีฬามวย ที่ได้ ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัท ไทยไฟท์ จำกัด เปิดตัว "ไทยไฟท์" ที่จะออกอากาศในเดือนก.พ. น่าจะช่วยให้เรตติ้งของ RS ดีขึ้น พร้อมกับปรับกลยุทธ์การขายเชิงรุกทั้งในด้าน On Air, Online และ On-ground เพื่อขยายฐานผู้ชม ทั่วประเทศ คาดจะทำให้มีรายได้เติบโตขึ้น

ภาพรวมปรับคาดการณ์ในปี 2562 รายได้ลงเป็น 3.76 พันล้านบาท และปรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงปรับกำไรสุทธิเป็น 421 ล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 507 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ปรับรายได้ขึ้นเป็น 4.58 พันล้านบาท จากการขยายช่องทางขาย MPC มากขึ้นและการปรับกลยุทธ์ต่างๆ แต่ก็ได้ปรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายขึ้นเช่นกัน โดยปรับกำไรสุทธิลงเป็น 578 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รวมที่ Synergy กับ BTS และการ M&A ในธุรกิจ OEM/OBM ที่ยัง ไม่สามารถประเมินผลบวกได้ ทำให้ราคาพื้นฐาน ปี 2563 เป็น 15.60 บาท โดยมองว่าราคาหุ้นปรับตัวลงมารับ ข่าวผลประกอบการที่ต่ำกว่าตลาดคาดมากแล้ว ยังคง แนะนำ "ซื้อ"




กำลังโหลดความคิดเห็น