NMG ยกเลิกแผนเพิ่มทุน หลังผู้ถือหุ้นบางกลุ่มยังไม่ตัดสินใจเพิ่มทุน พร้อมเล็งหาแหล่งเงินอื่นรองรับทำธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในแนวทางใด บริษัทจะพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 29 พ.ย. มีมติยกเลิกมติคณะกรรมการ ครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 62 ซึ่งอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย และส่วนล้ำมูลค่าหุ้น(ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ) ไปชดเชยผลขาดทุนสะสม และเพิ่มทุนจดทะเบียนเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อนำเงินมาชำระหนี้สิน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และใช้รองรับการขยายธุรกิจ
NMG ระบุว่า การยกเลิกมติคณะกรรมการดังกล่าวเนื่องจากยังคงรับทราบจากผู้ถือหุ้นรายสำคัญบางกลุ่มว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทได้ ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การยกเลิกมติคณะกรรมการยังรวมถึงการยกเลิกการกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2562 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย โดยการยกเลิกระเบียบวาระที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินกิจการของบริษัท
ในส่วนของการชำระหนี้สินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน หรือการขยายตัวของธุรกิจหลักของบริษัทฯ หรือการมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินตามที่ปรากฏในวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนและการใช้เงินทุนในส่วนที่เพิ่มของแบบรายงานการเพิ่มทุนของบริษัท เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 62 นั้น บริษัทยังคงยืนยันการดำเนินการตามแนวทางเดิม แต่อาจมีการปรับระยะเวลาการดำเนินการบ้าง ทั้งนี้จะพิจารณาผลประกอบการของบริษัท กระแสเงินสด แผนการดำเนินธุรกิจ และความเหมาะสมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัท เห็นสมควรและจะคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ในส่วนของการหาแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อให้บริษัทฯ มีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินงานต่างๆ นั้น แม้บริษัทจะยังไม่มีการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในคราวนี้ได้ บริษัทก็จะพิจารณาหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเช่นเดิม หรือเสนอขายให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ และการออกตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เป็นต้น และไม่ว่าจะเป็นในแนวทางใด บริษัทจะพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ