คลังจับมือพันธมิตรเปิดตัวโครงการ "บ้านในฝัน รับปีใหม่" หวังช่วยกระตุ้นยอดซื้อและเป็นแรงส่งภาคอสังหาฯ ปีหน้าโตกว่าร้อยละ 5 เอกชนยังกังวลติดล็อกมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดตัวโครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เข้าร่วมเปิดตัวโครงการ เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงโค้งสุดท้ายปี 2562 ให้กลับมาคึกคัก ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกบ้านได้ และคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีบ้านเป็นของตัวเอง ได้แก่ กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้ลูกหลานหรือทายาทที่ต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุดเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน และราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะนำป้ายโครงการ “บ้านในฝัน รับปีใหม่” ไปติดหน้าโครงการ
นายชาญกฤช กล่าวว่า มาตรการนี้นอกจากช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปี 2562 แล้ว หากมาตรการประสบผลสำเร็จจะมีส่วนช่วยหนุนให้อสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2563 โตเกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งกระทรวงการคลังมั่นใจว่าประชาชนไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษแบบนี้มาก่อน และธุรกิจอื่นๆ ยังได้ประโยชน์เพิ่มเติมพ่วงไปด้วย คือ ธุรกิจก่อสร้างที่จะมีงานปีหน้า กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพัฒนาการคมนาคม โดยมาตรการนี้ช่วยให้มีที่พักอาศัยจริง ค่าโอนค่าจดจำนองที่มูลค่าเกือบ 100,000 บาท ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ฟรี การตัดสินใจซื้อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังมีโปรโมชันให้อีก ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก ช่วยประชาชนประหยัดค่างวดผ่อนบ้านหลายแสนบาท ธอส.มีวงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท การให้สินเชื่อใช้หลักผู้มาขอสินเชื่อก่อนได้ก่อน วงเงินหมดแล้วไม่มีการต่อมาตรการ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ของขวัญปีใหม่ที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการมอบให้ประชาชน จึงขอให้ประชาชนอย่าพลาดโอกาสนี้
สำหรับโครงการบ้านในฝัน รับปีใหม่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยวัตถุประสงค์หลักของกระทรวงการคลัง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้องประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ซึ่งเป็นการส่งเสริมการออมที่มีความสำคัญประการหนึ่ง โดยตั้งเป้าอยู่ที่ 35,000 ยูนิต ซึ่งผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการได้พร้อมกันทั่วประเทศ โดยติดต่อลงทะเบียนผ่าน ธอส.ที่มีสาขากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมสามารถขอดาวน์โหลดไฟล์โครงการบ้านในฝัน รับปีใหม่ เพื่อทำป้ายประชาสัมพันธ์ติดหน้าโครงการได้ทันที
ทั้งนี้ หวังว่าแคมเปญดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีและกำลังมองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สามารถกระตุ้นยอดขายและเร่งให้เกิดการโอนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้เป็นอย่างดี อันจะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจพัฒนาการคมนาคมมีความคึกคักมากขึ้น และช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
น.ส.อาภา อรรภบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การมีส่วนร่วมให้โปรโมชันพิเศษแก่ผู้ซื้อบ้านจะเป็นไปตามดุลพินิจและกำลังของผู้ประกอบการแต่ละรายจะมอบให้แก่ลูกค้า สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ช่วยลดภาระประชาชนที่ต้องการซื้อบ้าน 1 ล้านละ 30,000 บาท ของราคาที่ซื้อ ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก เพราะได้โควตาคนละ 3 ล้านบาท มาตรการนี้ออกมานอกจากเป็นการรณรงค์ซื้อบ้านแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนมีบ้าน และช่วยกระตุ้นผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจริงที่ยังรีรออยู่ นับเป็นโอกาสดีทั้งผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยและซื้อเพื่อการลงทุน ขณะที่ผู้ประกอบการจัดโปรโมชันพิเศษให้ส่วนลดและสิ่งของเพิ่มเติม เป็นผลช่วยด้านจิตวิทยาเป็นอันมาก ช่วยตลาดคึกคักมากขึ้น โดยปกติช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซันของการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากหลายคนมีรายได้พิเศษปลายปีต้นปีอยู่แล้ว ก็คิดว่าแผนใช้เงินไปอยู่ในทรัพย์สินที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงไม่ได้กินใช้ฟุ่มเฟือย จากสถิติการโอนอสังหาริมทรัพย์ทั้งประเทศในภาพรวม อาคารชุดปกติมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 50 ของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยทั้งหมด ส่วนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 60 ของภาพรวมอสังหริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเฉพาะสต๊อกอาคารชุดในกรุงเทพฯ มียอดคงค้างประมาณ 35,000 หน่วย มั่นใจว่าประมาณ 20,000 หน่วยเป็นอาคารชุด
น.ส.อาภา กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าเมื่อประชาชนตัดสินใจซื้อแล้ว ด้วยมาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้รับการอนุมัติ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสินค้าที่อยู่อาศัยนับที่การโอนไม่รับการขาย ดังนั้น ควรจะหาแนวทางผ่อนผันชั่วคราว แต่จากการติดตามข่าว ทราบว่า กระทรวงการคลังจะไม่ไปจัดการเรื่องมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ
“เป็นเรื่องที่กังวลใจว่าออกมาตรการกระตุ้นการขายอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีมาตรการเสริมมารองรับการโอน การบรรลุผลต้องตามไปดูว่าจะสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด เพราะไม่ครบลูป แต่การออกมาตรการกระตุ้น อัตราการซื้อหรือการดูดซับที่อยู่อาศัยน่าจะดีขึ้นบ้าง” น.ส.อาภา กล่าว
สำหรับยอดซื้ออาคารชุดของต่างชาติที่เคยมียอดซื้อประมาณ 90,000 ล้านบาท ขณะนี้หายไปหมด เพราะมองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ จึงมีการย้ายไปลงทุนซื้อในประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น กัมพูชา และยังไปซื้อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้คาดว่ามีหน่วยพร้อมเปิดขายในช่วง 2 เดือนนี้ประมาณ 35,000 หน่วย และมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ผู้ซื้อบ้านในช่วงที่มีการลดราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มี 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดภาระให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และจะลดต้องจดทะเบียนการโอน รวมถึงจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ส่วนอีกมาตรการ ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2.5 คงที่ 3 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐประเมินเบื้องต้นว่า การลดค่าโอนและจดจำนองจะสูญเสียรายได้ 2,600 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดดอกเบี้ย ธอส. รัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 1,200 ล้านบาท ประเมินว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต และส่งผลดีไปยังภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจคมนาคม อีกทั้งหวังว่าหลังจาก ธอส.เป็นผู้นำตลาดในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
ปัจจุบัน มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เดือนตุลาคม 2562 ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57 ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จปี 2563 อีก 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้จำนวนเพียงพอ