xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยโค้งสุดท้ายยังพอขยับขึ้น ลุ้น 1,700 จุดหลังปัจจัยลบเริ่มจำกัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัจจัยลบจากภายนอกเริ่มมีจำกัด ผลักดันตลาดหุ้นไทย 2 เดือนสุดท้ายค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่ม ดัชนีหลักทรัพย์มีโอกาสส่งท้ายที่ระดับ 1,700 จุด จากภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น และมีเม็ดเงินจาก LTF และ RMF เข้ามาสนับสนุน กูรูให้น้ำหนักหุ้นปันผลสูง ช่วยลดความเสี่ยง ถัดมากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ และกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนกว่า ๆ ตลาดหุ้นไทยก็จะพ้นจากปี 2562 เข้าสู่ปี 2563 ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (17 ต.ค.) โดยภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,632.80 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 66.86 จุด หรือ 4.26% จากปิดตลาดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 ที่ระดับ 1,565.94 จุดซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปี 2562 ขณะที่ 3 เดือนย้อนหลังดัชนีต่ำสุดที่ระดับ 1,604.03 จุด เมื่อวันที่ 15 ส.ค. หากไม่มีอะไรผิดพลาด หรือไม่เกิดปัจจัยลบที่รุนแรงมาก เชื่อว่าหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่น่าจะหลุด 1,600 จุด

ขณะที่ภาพรวมการซื้อขาย แยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า ด้วยศักยภาพบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแกร่ง จึงทำให้นักลงทุนสถาบัน และกลุ่มโบรกเกอร์ (บัญชีบริษัทหลักทรัพย์) ยังเชื่อมั่นจนทำให้เป็นผู้ซื้อสะสมมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 2.36 หมื่นล้านบาท และ 1.15 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) และนักลงทุนต่างประเทศ เป็นผู้ขายสะสม 2.49 หมื่นล้านบาท และ1.02 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนทิศทางช่วงที่เหลือของปี 2562 ตลาดหุ้นไทยจะดำเนินไปในทิศทางใดนั้น ทีมงานได้รวบรวมมุมมองความคิดเห็นจาก บริษัทหลักทรัพย์ 3 - 4 มาประมวลภาพรวมโดยสรุป เพื่อให้พิจารณาและรับทราบดังนี้

ไทยพาณิชย์ : Fund Flow กว่าจะไหลกลับ Q3 ปีหน้า
“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) แสดงความเห็นว่า ในไตรมาสสุดท้ายปี 2562 ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัวอยู่ แต่ช่วงนี้มีปัจจัยบวกเข้ามาทำให้ตลาดมีความคาดหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ กับจีนที่มีข้อตกลงบางส่วนเกิดขึ้นทำให้ตลาดมีความผ่อนคลายลง แต่เรื่องดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้เวลาและมีแนวโน้มให้ต้องติดตามไปจนถึงปีหน้า ดังนั้นภาวะหุ้นไทยจะคงเป็นลักษณะการแกว่งตัว ตามภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตต่ำสุด เนื่องจากการส่งออกยังหดตัว และคาดว่าการลงทุนเอกชนน่าจะติดลบด้วย ทำให้ภาพรวมทั้งปีจะเติบโตได้ 2.7-2.8%

ขณะที่กระแสเม็ดเงินทุน (Fund Flow) ยังไม่มีทิศทางเปลี่ยนแปลง พบว่ายังมีการขายสุทธิออกไป แต่เริ่มมีสัญญาณซื้อเข้ามาบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะกลับเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3/2563 พร้อมกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งจะเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้น ดังนั้นปี 2562 คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) จะเติบโตราว 2-3% อยู่ที่ 101 บาทต่อหุ้น ขณะที่เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,700 จุด ส่วนปี 2563 การเติบโตของ EPS จะอยู่ที่ 5-10% หรือ 110 บาทต่อหุ้น ที่ P/E 16.5 เท่า เนื่องจากมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นทั่วโลก จึงอาจจะเริ่มเห็นการไหลกลับของเม็ดเงินในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยมีเป้าดัชนีปี 2563 ที่ระดับ 1,800 จุด

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4 ยังคงเน้นไปที่หุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง และปลอดภัย อย่างหุ้น domestic play และหุ้นที่มี story เกี่ยวกับการเติบโตต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ได้แก่ กลุ่มการแพทย์, นิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มพาณิชย์, กลุ่มขนส่ง เช่น BCH, WHA, GLOBAL, CPALL และ BTS เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยง หุ้นกลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์ เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า และความต้องการซื้อชะลอตัว


เอเซีย พลัส : กำไรบจ.หนุน Q3 - 4โตต่อเนื่อง
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 62 น่าจะแกว่งตัวขึ้น ปัจจัยผลักดันมาจากในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย โดยเชื่อว่าการประชุม กนง. งวดเดือน พ.ย. 62 มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนตลาดทุนกับตราสารหนี้มีมากขึ้น หนุน Earning Yield Gap ขึ้นมาที่ 4.68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 4.28% ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นน่าสนใจมากขึ้น และมีโอกาสเห็นเม็ดเงินโยกย้ายเข้ามาลงทุน โดยไตรมาส 4 ยังจะได้แรงหนุนจากผลประกอบการไตรมาส 3/62 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งน่าจะมีกำไรรวมราว 2.5 แสนล้านบาท ฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/62

"ในไตรมาส 4 เราให้น้ำหนักเรื่องดอกเบี้ยมากสุด มีโอกาสเห็น กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้ Earning Yield Gap สูงขึ้น ตามมาด้วยการโยกย้ายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้น และอีกเรื่องที่หนุนตลาดคือกำไร บจ.ไตรมาส 3 เราเชื่อว่าจะออกมาดีกว่าไตรมาส 2"

ขณะเดียวกันการพิจารณางบประมาณปี 2563 วาระแรกในวันที่ 17 ต.ค. 62 รวมทั้งมีความคาดหวังว่าไทยอาจถูกปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ 1 ขั้นเป็น Upper Medium Grade ทั้งสองประเด็นนี้ จะเป็น Sentiment ด้านบวกต่อตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 ด้วย ส่วนปัจจัยกดดันจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ ยังคงมีน้ำหนักกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงกรณีที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบ No deal ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นในตลาดได้สะท้อนปัจจัยลบทั้งสองประเด็นไปพอสมควรแล้ว

ดังนั้นประเมิน SET Index สิ้นปี 62 ที่ 1,655 จุด อิง PER เหมาะสมที่ 16.45 เท่า จากฐานของแนวโน้มกำไร บจ.ปี 62 ที่ราว 9.99 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 100.64 บาท ซึ่งที่ SET Index เป้าหมายดังกล่าวมี Upside จากปัจจุบันราว 1-2% จึงควรใช้กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี แต่ราคายัง Underperform ตลาด โดยหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมี Valuation ถูกกลุ่มแรก ซึ่งสายงานวิจัยฯ คัดกรองมา เป็นหุ้นที่จ่ายปันผลสูง (High Dividend Yield) นำโดย PTTEP, LH และ SPALI และยังมีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างBBL ที่ควรหาจังหวะเข้าซื้อหลังประกาศงบไตรมาส 3/62 รวมไปถึงหุ้นที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม ให้แก่พอร์ต ได้อย่าง JWD และ PLANB เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ จากกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลง เหลือ 3% จากเดิม 3.2% ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 ส่วนปี 2563 คาดเติบโต 3.4% ลดลงจากเดิมที่คาดเติบโต 3.5% พร้อมปรับลดปริมาณการค้าโลกปี 2562 เหลือเพียง 1.1% และปี 2563 ขยายตัวเหลือ 3.2% จากเดิมที่คาด 2.5% และ 3.7% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบวงกว้างรวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปล่อยก๊าซของภาคยานยนต์ในยุโรป และความไม่แน่นอนของเบร็กซิท

ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส ประเมินว่าการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ IMF ในครั้งนี้ สะท้อนความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในอนาคต ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการคลัง เช่น การลดภาษี หรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆหากยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้กระแสเงินลงทุนมีโอกาสโยกย้ายจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะถัดไปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย

ทิสโก้ : เม็ดเงิน LTF-RMF ไหลเข้ากระตุ้น Q4
“วิวัฒน์ เตชะพูลผล” รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ แสดงความเห็นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเชิงเทคนิคคาดว่าจากนี้จนถึงสิ้นปี ดัชนีหลักทรัพย์จะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนไปถึงเป้าหมายปลายปีที่ 1,680 จุดได้ เนื่องจากความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นเริ่มมีจำกัด หลังจากที่ผ่านมาได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดกัน ขณะที่ในไตรมาส 4/2562 จะเริ่มมีสภาพคล่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสำคัญ ๆ หลายแห่งไหลเข้าสู่ระบบ รวมถึงยังเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มากที่สุดด้วย

ดังนั้นไตรมาสที่ 4 เป็นไตรมาสที่มีข่าวดีรออยู่มาก โดยเฉพาะสภาพคล่องที่จะมีเพิ่มขึ้นในระบบ ทั้งจากการหยุดลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังคาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ อีกทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังกลับมาทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโรแบบยังไม่กำหนดสิ้นสุด

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ถึงปริมาณเงินที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าจะลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยาว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนระหว่างการลงทุนในช่วง 7 ปีปฏิทินของกองทุน LTF และการลงทุนในระยะยาวของ RMF จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนอาจตัดสินใจแบ่งเงินเข้ามาลงทุนใน LTF และ RMF ในสัดส่วนที่น้อยลง

ส่วนหุ้นเด่นที่น่าสนใจไปจนถึงสิ้นปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ หุ้นพื้นฐานดี แต่ในรอบ 2-4 ปีราคาปรับลงมาต่ำ ได้แก่ BBL, KBANK, SCB และ SPALI กลุ่มถัดมาคือหุ้นรับมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ AOT, CPALL, BJC, AMATA, WHA และ ROJNA และหุ้นกำไรดี BEM, ERW, SEAFCO, TRUE และ TU

ดังนั้นนักลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563 แนะนำให้ทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจขาลง โดยควรรอจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัว ซึ่งคาดว่าจะเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 เพราะเป็นช่วงที่สภาพคล่องทั่วโลกเพิ่มขึ้น มองราคาทองคำโลกย่อตัวลงที่ 1,440 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ เป็นจังหวะเข้าซื้อ และรอขายในปี 2563 ที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,650 - 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

สรุป:ภาพรวม Q4/62 หุ้นไทยไม่ได้แย่
จากความคิดเห็นของโบรกเกอร์ที่นำเสนอข้างต้น พอที่จะประมวลผลได้ว่า ปัจจัยลบที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้เริ่มมีอย่างจำกัด นั่นทำให้มีโอกาสได้เห็นดัชนีหลักทรัพย์ส่งท้ายปี 2562 ที่ระดับ 1,700 จุด โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3/62 และเม็ดเงินที่ไหลเข้าระบบเพิ่มเติมจาก LTF และ RMF

ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่เข้ามาสนับสนุน จะมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีทิศทางที่บวกมากขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการ QE กระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งทำให้กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม นักวิเคราะห์ต่างให้น้ำหนักไปยังหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง,หุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ และกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าอย่าง กลุ่มการแพทย์, นิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มพาณิชย์ และ กลุ่มขนส่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น