แม้บริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่และโครงสร้างผู้บริหารไปแล้วกว่า 1 ปี แต่ปัญหาที่ผู้บริหารบริษัทชุดเก่าก่อไว้ ยังสะสางไม่จบ โดยเฉพาะทุจริต ซึ่งสร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้น
เมื่อวันที่ 17 เมษยนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท พร้อมพวกรวม 8 ราย ในความผิดทุจริตต่อหน้าที่ โดยการให้ ADAM ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นของกลุ่มจันทร์สกุลพร เมื่อปี 2557 ทั้งที่รู้ว่า
บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ อยู่ระหว่างถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนดำเนินคดี กรณีสงสัยว่าร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงิน
ผู้ถูกกล่าวโทษทั้ง 8 คน ประกอบด้วย นายบุญเปี่ยม เอี่ยมรุ่งโรจน์ ประธานกรรมการบริษัทช่วงเกิดเหตุ นายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม กรรมการ นายสราวุฒิ ภูมิถาวร กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ และพวกอีก 5 ราย ได้แก่ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง น.ส.บงกร จันทร์สกุลพร นายสรวิศ จันทร์สกุลพร และนางสุดา
นายชินวัฒน์ ถูกจัดเป็นตัวจักรสำคัญของการซื้อหุ้นบริษัท กีธา ขณะที่นายณิทธิมน ซึ่งเคยเป็นประธาน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำจัด (มหาชน) หรือ NMG ในช่วงที่กลุ่มบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS กำลังเปิดศึกยึดเครือเนชั่นฯ และนางสุดา ต้องติดร่างแห ทั้งที่ทั้ง 2 คนเข้าไปทำงานใน ADAM ได้ประมาณ 1 เดือน ก่อนเกิดเหตุการณ์
การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ADAM แม้อดีตกรรมการและผู้บริหารรวม 8 คน ปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทแล้ว หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือห้นใหญ่เมื่อต้นปี 2561
ADAM เปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท อาร์เค มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RK ซึ่งเป็นหุ้นร้อนในอดีต แต่เปลี่ยนชื่อแล้ว ก็ยังเป็นหุ้นร้อนอีก โดยเสี่ยเปี๋ยง ผู้ร่วมทุจริตโครงการขายข้าวระบบจีทูจี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นถือหุ้นใหญ่
ต้นปี 2561 นายเกรียงไกร ศิระวณิชการ เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม และประกาศรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ในราคาหุ้นละ 7 สตางค์ จนก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กุมอำนาจการบริหาร ก่อนจะเปลี่ยนกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใหม่ทั้งหมด
ปลายปี 2561 คณะกรรมการ ADAM มีมติเพิ่มทุน นำหุ้น จำนวน 752.83 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท ขายบุคคลในวงจำกัด โดยกลุ่มนายศุภโชค ปัญจทรัพย์ เป็นผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน และก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 41.68% ของทุนจดทะเบียน ขณะที่นายเกรียงไกร ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 28.95% ของทุนจดทะเบียน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างบริหาร ADAM เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยกลุ่มปัญจทรัพย์ ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเหลือจำนวนเพียง 721 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 12.18%
สำหรับกลุ่มปัญจทรัพย์ เป็นนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ มีประสบการณ์ยาวนาน โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินย่านลาดพร้าว รวมทั้งซอยโชคชัย 4 ซึ่งกลุ่มปัญจทรัพย์ เป็นผู้บุกเบิก
กลุ่มปัญจทรัพย์มีทรัพย์สินหลายหมื่นล้านบาท แต่เป็นเศรษฐีที่ดินที่เก็บตัว
หุ้น ADAM ถูกแขวนเอสพี พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 ราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 14 บาท และยังอยู่ในกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน แต่ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัว และปีนี้จะมีกำไรจากการดำเนินงาน เพราะมีรายได้จากการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง
ปีหน้า ADAM คงจะออกจากกลุ่มฟื้นฟูฯ และกลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้ง
การกลับมาภาคใหม่ของหุ้น ADAM มีความน่าสนใจ เพราะอาจเป็นหุ้นเทิร์นอะราวนด์ หรือหุ้นที่ผลประกอบการฟื้นตัวจริงๆ
ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือเพียง 712 ราย และรอคอยการกลับมาของ ADAM มา 3 ปี คงมีโอกาสรักษาแผลที่บาดเจ็บจากหุ้นตัวนี้