xs
xsm
sm
md
lg

ฟันหนักปั่นหุ้น AJA / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลังให้เวลา ผู้บริหารและผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA มาเกือบ 3 เดือน เพื่อชำระค่าปรับในความผิด แต่ถูกเพิกเฉย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องทางแพ่ง กำหนดบทลงโทษสูงสุด

ค่าปรับในชั้น ก.ล.ต. กำหนดไว้เดิมรวมทั้งสิ้น 1,727.38 ล้านบาท โดยลดหลั่นกันไปในชั้นความผิดของผู้ร่วมปั่นหุ้นทั้ง 40 ราย แต่เมื่อไม่ยอมจ่าย ก.ล.ต.จึงกำหนดอัตราค่าปรับใหม่ในขั้นสูงสุดเพิ่มเป็น 2,303.06 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 575.68 ล้านบาท และจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะความผิดในการปั่นหุ้น อยู่ในฐานะความผิดการฟอกเงิน

ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.เคยสั่งปรับแก๊งปั่นหุ้นในหลายดคี ซึ่งบางกลุ่มยินยอมจ่ายค่าปรับ ปิดคดีในชั้น ก.ล.ต. เช่น คดีปั่นหุ้น บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ABC ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ DIGI

แก๊งปั่นหุ้น ABC มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทฯ ร่วมขบวนการด้วย โดย ก.ล.ต. สั่งปรับเป็นเงิน 120 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดยินยอมจ่ายค่าปรับ

หรือคดีปั่นหุ้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และพวกรวม 3 คน ก็ยอมจ่ายค่าปรับ จำนวน 499.45 ล้านบาท ปิดคดีไปเหมือนกัน

ส่วน AJA เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่ไม่ชำระค่าปรับในชั้น ก.ล.ต. และถูกส่งสำนวนไปให้อัยการ เพื่อฟ้องเรียกชำระค่าปรับในทางแพ่ง โดยยังไม่มีคดีใดที่ได้รับการตัดสินของศาล

ผู้บริหาร AJA เคยยื่นหนังสืออุทธรณ์บทลงโทษของ ก.ล.ต.แล้ว ขอให้พิจารณาทบทวนข้อกล่าวหา แต่คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น

โดย ก.ล.ต. ยืนกรานต้องชำระค่าปรับ จำนวน 1,727.387 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าปรับในคดีปั่นหุ้นที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้จะเป็นวงเงินที่สูง แต่ค่าปรับประเมินมาจากพฤติกรรมความผิด และได้ลดหย่อนแล้ว เพราะความผิดในการปั่นหุ้น ค่าปรับจะคำนวณจากผลประโยชน์ทั้งหมดที่ได้รับจากการปั่นหุ้น และคูณด้วยสอง

เช่น ได้ประโยชน์จากการปั่นหุ้น 100 ล้านบาท ก.ล.ต.จะลงโทษปรับ 200 ล้านบาท ซึ่งในอดีต ถ้าไม่ยอมชำระค่าปรับ จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ฟ้องดำเนินคดีทางอาญา

แต่เนื่องจากคดีร้องทุกข์กล่าวโทษที่ส่งไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ มักถูกตัดตอน ไม่ขึ้นไปสู่การพิจารณาในชั้นศาล เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง ก.ล.ต. จึงต้องปิดจุดบอดในกระบวนการลงโทษปั่นหุ้น และหันมาดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง เพื่อไม่ให้แก๊งปั่นหุ้นลอยนวลโดยไม่ต้องรับความผิดใดๆ

การส่งเรื่องให้อัยการฟ้องคดีทางแพ่ง เรียกชำระค่าปรับ 2,303.06 ล้านบาทนั้น เป็นบทลงโทษสูงสุดตามพฤติกรรมความผิด โดยเป็นการคำนวณตัวเลขจากผลประโยชน์ที่ได้จากการปั่นหุ้น AJA ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคมถึง 8 ตุลาคม 2557 หรือ 100 วันทำการ ซึ่งราคาหุ้นพุ่งจากระดับ 2.60 บาท/หุ้น ขึ้นไปยืนที่ระดับ 15 บาท/หุ้น

คดีปั่นหุ้น AJA จะมีบทสรุปอย่างไร ต้องรอติดตามชมต่อในชั้นศาลแล้ว เพราะยังไม่เคยมีคำตัดสินของศาล คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในความผิดปั่นหุ้น

ถ้าสุดท้าย ศาลตัดสินลงโทษตามที่ ก.ล.ต.ฟ้อง สั่งปรับผู้ร่วมขบวนการปั่นหุ้น AJA ทั้ง 40 ราย รวมเป็นเงิน 2,303.06 ล้านบาท จะกลายเป็นบรรทัดฐานคดีฟ้องร้องการปั่นหุ้นในทางแพ่ง

และเป็นบรรทัดฐานที่แก๊งปั่นหุ้นกลุ่มอื่นๆ จะต้องชั่งน้ำหนักว่า จะยอมชำระค่าปรับในชั้น ก.ล.ต. แต่โดยดี หรือจะสู้คดีกันในชั้นศาล

เพราะสู้คดีในชั้นศาล ก.ล.ต. จะเสนอบทลงโทษสูงสุด ถ้าแพ้อาจโดนปรับหนักเหมือน AJA



กำลังโหลดความคิดเห็น