ดุสิตธานีเตรียมผลักดันโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN หลังจากได้ยุติการให้บริการโรงแรมเดิมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 เพื่อปรับปรุงและก่อสร้างใหม่ โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ โดยจะยังคงใช้ชื่อแบรนด์ ‘ดุสิตธานี’ และบริหารจัดการโดยกลุ่มดุสิตธานี เช่นเดิม
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า ในนามของกลุ่มดุสิตธานี ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณที่ผูกพันกับดุสิตธานี มานานถึง 49 ปี ความผูกพันดังกล่าวเป็นหนึ่งในพันธสัญญาที่ผู้บริหารกลุ่มดุสิตธานี มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้งใน 4 ปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อ ‘ดุสิตธานี’ เพื่อตอกย้ำความเป็นไทยตามเจตนารมณ์เดิมของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรม
“เรามุ่งมั่นที่จะทำให้โรงแรมดุสิตธานี แห่งใหม่ เป็นแฟลกชิปโฮเทล หรือเป็นโรงแรมต้นแบบที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และแสดงออกถึงศิลปะวัฒนธรรมที่มีความเป็นไทย โดยมั่นใจว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง เนื่องจากการพัฒนาโครงการหลังจากนี้ จะเป็นโครงการที่ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ 4 ส่วน ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ ที่ยังคงมีเอกลักษณ์ของดุสิตธานีเดิม ไม่ว่าจะเป็นยอดเสาสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงแรม, เปลือกอาคาร, ต้นไม้, น้ำตก, ห้องอาหารเบญจรงค์, ห้องไลบรารี, ล็อบบี และห้องไทยเฮอริเทจ สวีต ขณะที่อีก 3 ส่วนที่เหลือ จะประกอบด้วย โครงการศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอาคารพักอาศัย ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของเมือง ทั้งศูนย์กลางทางธุรกิจ รวมถึงศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ” นางศุภจี กล่าว
นอกจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการอนุรักษ์เรื่องราวดั้งเดิม และนำกลับมาอยู่ในโรงแรมใหม่ ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มดุสิตธานีแล้ว ดุสิตธานี ยังขอยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว และมีความตั้งใจที่จะให้พนักงานของดุสิตธานีทุกคนที่จะกลับมาทำงานโดยพร้อมเพรียงกันในอีก 4 ปีข้างหน้าอีกด้วย
ในช่วงเวลาหลังจากนี้ จะเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเดินหน้าโครงการใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือประมาณกลางปีนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ก่อนการยุติการให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานี ได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายแบรนด์โรงแรมอาศัย เพื่อจับลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียม ที่นิยมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และใช้ชีวิตในสไตล์ใกล้ชิดกับชุมชน หรือท้องถิ่น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายการลงทุนไปสู่การบริหารบ้านพักหรูในรูปแบบลักชัวรีวิลล่า เพื่อจับตลาดการท่องเที่ยวในระดับบน ที่มีไลฟ์สไตล์ความเป็นส่วนตัวสูง และต้องการบริการระดับดีเลิศ ซึ่งประสบการณ์งานบริการของกลุ่มดุสิตธานี สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ในระดับดีเยี่ยม
“เรายังขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่มองเห็นการเติบโต และเป็นแนวที่ดุสิตธานี มีประสบการณ์และมีความถนัด นั่นคือ ธุรกิจอาหาร ผ่านการจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าลงทุนในบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือ NRIP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูป ประเภทอาหารแห้งและเครื่องปรุงรสให้กับลูกค้าทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ โดยเข้าถือหุ้นสัดส่วน 24.9% ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มดุสิตธานี ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจ พร้อมกับแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ซึ่งเมื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้ง ตามมาด้วยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน ก็จะทำให้การเติบโตของดุสิตธานี มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนในอนาคต” นางศุภจี กล่าว