บล. ทรีนีตี้ คาดหุ้นไทยเดือนสิงหาคม ยังคงแกว่งตัวในแนวบวก ประเมินกรอบดัชนีที่ 1,750 จุด เหตุผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาดี ช่วยชี้นำตลาด และการไหลเข้าของเม็ดเงิน LTF/RMF และการเปิดขายกองทุน Trigger Fund แนะจับตาปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าอาจยังมีความวุ่นวายกระทบหุ้นไทย และการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทย
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มภารรวมการลงทุนในเดือนสิงหาคมว่า ประเมินภาพรวม SET Index คาดว่าจะมีการปรับตัวรีบาวด์ขึ้นตามคาดจากช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารฯ ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารฯ ปรับตัว Outperform SET Index และนำพาดัชนีขึ้นมาในรอบนี้
นอกจากนั้น SET Index ยังได้แรงหนุนจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบัน ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ 1. การเพิ่มน้ำหนักของ Active fund manager ภายหลังจาก Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ 2. การไหลเข้าของเม็ดเงิน LTF/RMF และ 3. การเปิดขายกองทุน Trigger Fund
“อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นสัญญาณการปรับประมาณการ EPS ตลาดหุ้นไทยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้น การปรับตัวขึ้นมาของดัชนีฯ ครั้งนี้ จึงมาพร้อมกับ Valuation ที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเราประเมินว่า ระดับดัชนีฯ ที่จะเริ่มเปราะบางในแง่ของ Valuation จะอยู่ที่บริเวณ 1,700 จุดขึ้นไป หรือเทียบเท่าระดับ Forward P/E ที่14.1 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เราพูดมาเสมอว่าเป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของ SET Index ในอดีต”
สำหรับภาพการลงทุนเดือนสิงหาคม ประเมินว่า SET Index จะเริ่มชะลอการขึ้น โดยมองกรอบแนวรับสำคัญที่ 1,650 จุด ส่วนกรอบแนวต้านแรกมองที่ 1,720 จุด และกรอบแนวต้านสำคัญที่ 1,750 จุด
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแบ่งเป็นปัจจัยบวกได้แก่ 1. ผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงทำให้ Sentiment ระยะสั้นของหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวดีขึ้น แนะนำติดตามผลประกอบการของกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังจะทยอยออกในช่วงถัดไป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อทิศทางของ SET Index ในระยะสั้นด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเด็นที่ 2 คือ Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว ทั้งในมิติของ Earning yield gap, Dividend yield gap, forward P/E และ Forward PBV และ 3. กระแส Fund flow ที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติ Long สุทธิในตลาดล่วงหน้าติดต่อกันถึง 4 หมื่นกว่าสัญญา และเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นให้เห็นบ้างแล้ว
ขณะที่ในส่วนของปัจจัยลบ ยังคงอยู่ในมุมมองของประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงมีความวุ่นวายต่อเนื่อง คาดเป็นสัญญาณที่รบกวนบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ส่วนประเด็นถัดไป คือ การปรับตัวขึ้นของ Bond yield ไทยจนทำระดับสูงสุดใหม่ของปีนี้ ซึ่งหากปรับขึ้นต่ออีก อาจทำให้ความน่าสนใจของ SET Index เริ่มลดลงโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากจะทำให้ Earning yield gap และ Dividend yield gap ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวแคบลง
ส่วนประเด็นที่ 3 ได้แก่ ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในยุโรป เนื่องจากอิตาลีจะถึงคิวกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ แนะนำให้นักลงทุนจับตาท่าทีของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หากมีการออกมาลดอันดับ Credit rating ของอิตาลีลง มองจะเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ ส่วนประเด็นที่ 4 คือการเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Shares ของจีนในดัชนี MSCI EM ช่วงปลายเดือนนี้อีก 2.5% ของ Adjusted market cap อาจทำให้ Passive funds ที่อิงการลงทุนกับดัชนีนี้ มีการโยกย้ายเงินออกจากประเทศ EM อื่น ซึ่งรวมถึงไทยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำนักลงทุนที่สะสมหุ้นไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมตามที่ทรีนิตี้ แนะนำถือหุ้น Let profit run ต่อไปได้ แต่เนื่องด้วย Valuation ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วยนั้น ทำให้มองว่าจะต้องกำหนดจุดขายทำกำไรที่ชัดเจน โดยหากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับแนวต้านแรกที่ 1,720 จุด แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาส่วนหนึ่ง และหากดัชนีปรับตัวขึ้นต่อไปยังบริเวณ 1,750 จุด มองว่าจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นออกมา และถือเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่ ณ เวลานี้ มองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโฟกัสไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ที่ยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดในรอบนี้ และเป็นหุ้นที่เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ในเชิงพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ TISCO, PTTEP, TMB, CPALL, TOP, BBL, TU (เรียงตามลำดับราคาหุ้นที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมา)
ขณะที่ราคาเป้าหมายของหุ้นที่ประเมินไว้แต่ละตัว ได้แก่
TISCO ที่102 บาทต่อหุ้น
PTTEP ที่ 125 บาทต่อหุ้น
TMB ที่ 2.60 บาทต่อหุ้น
CPALL ที่ 101 บาทต่อหุ้น
TOP ที่ 101 บาทต่อหุ้น
BBL ที่ 220 บาทต่อหุ้น
TU ที่ 18 บาทต่อหุ้น