เจพี ประกันภัย ลงนาม MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาเทคโนโลยีธูรกิจประกันภัย รองรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
ดร.ฉัตรชัย ธนาฤดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางด้านวิชาการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มีผลงานที่ได้รับการยอมรับ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนรวมถึงธุรกิจประกันภัย และรองรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล
“ภายใต้จุดเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการใน 3 ปีต่อจากนี้ ระหว่างเจพี ประกันภัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะมีการร่วมมือกันปฏิบัติการทางเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อให้เกิด Insurance Technology ที่สมบูรณ์แบบ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI), การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics), อินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ (Internet of Intelligence) และระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) รวมถึงเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า RPA (Robotic Process Automation) ซึ่งเป็นการใช้ระบบหุ่นยนต์ในการช่วยประเมินค่าซ่อมที่เป็นธรรม และโปร่งใส เพื่อพัฒนาการบริการหลังการขาย โดยที่ทางเจพี ประกันภัย ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างจริงจังด้วยการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการ และสร้างนวัตกรรมประกันภัยกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำไปใช้พัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยตามกลยุทธ์ผู้นำด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ “อินชัวร์เทค” (InsurTech) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และสังคมไทย
ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้มอบอำนาจให้ รศ.ดร. พยุง มีสัจ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดย รศ.ดร. พยุง มีสัจ กล่าวว่า การผสานความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่าง มจพ. และเจพี ประกันภัย ในครั้งนี้
จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบัณฑิตทางการศึกษาเพื่อสร้างเด็กไทยสายพันธุ์ดิจิทัลในยุค 4.0 โดยจะมีการสนับสนุนการทำสหกิจกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สนับสนุนการวิจัยของนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งของทั้งสองฝ่าย และเพื่อการพัฒนาบัณฑิตทุกระดับปริญญาของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้าน “อินชัวร์เทค” (InsurTech) รองรับยุคสมัยของ ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแน่นอน