xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านรวมพลังต้านประชาพิจารณ์โครงการแสนสิริ “เดอะ เบส เจริญราษฎร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านใกล้เคียงและผู้อยู่อาศัยในโครงการศุภาลัยฯมาล้นห้องประชุม
ชาวบ้านชุมชนเจริญราษฎร์ และผู้อยู่อาศัยโครงการศุภาลัย ไลท์ สาทร-เจริญราษฎร์ ร่วมแสดงความเห็นซักค้านในการทำประชาพิจารณ์ อาคารก่อสร้างขนาดใหญ่ของบริษัทแสนสิริในพื้นที่ ชี้ไม่สร้างประโยชน์แก่ชุมชน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องแสงแดด ทิศทางลม เพิ่มความหนาแน่นของการจารจรในพื้นที่ พร้อมเสนอให้แก้ไขแบบ หากไม่เป็นผลจะร้องหน่วยงานราชการ เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป ด้านผู้ชี้แจง ปัดพัลวัน แปลงโฉนดเลขที่ดิน 54 และ 894 ไม่ใช่แปลงสาธารณะ “ที่ปรึกษาทำ EIA” แจงมาตรการป้องกัน พร้อมบันทึกข้อกังวลของลูกบ้าน ก่อนสรุปรายงานให้ลูกบ้านอีกรอบ ขณะที่สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการระบุมีผลต่อทัศนีย์ภาพ

วานนี้ (30 มิ.ย.) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้บริษัท เอิร์ธ แอนด์ ซัน จำกัด ที่ปรึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเดอะ เบส เจริญราษฎร์ ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. ซึ่งโครงการประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัย 1 อาคาร สูง 37 ชั้น อาคารจอดรถด้านท้ายโครงการ 1 อาคาร สูง 7 ชั้น มีห้องชุดพักอาศัยรวม 1,528 ห้อง มีที่จอดรถ 613 คัน และที่จอดรถสาธารณะ 7 คัน ขนาดพื้นที่โครงการประมาณ 6-2-65.7 ไร่ หรือ 10,662.8 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ดังนั้น ทางบริษัฯ ได้จัดให้มีการประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากเจ้าของห้องพักอาศัยโครงการศุภาลัย ไลท์ สาทร-เจริญราษฎร์ การรับฟังใช้เวลา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 09.00-12.00 น.
ตัวแทนจากแสนสิริ พร้อมที่ปรึกษา มาชี้แจงการทำ EIA
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทุกช่วงของการนำเสนอรายละเอียดของโครงการ ทางผู้อยู่อาศัยในโครงการศุภาลัย ต่างได้ซักถามถึงความชัดเจน และความถูกต้องของการจัดทำ EIA และแสดงความบริสุทธิ์ใจในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากผู้อยู่อาศัยในโครงการศุภาลัย ไลท์ สาทร-เจริญราษฎร์ มีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินสำรวจพบว่า ลักษณะของอาคารโครงการศุภาลัย จะสูงเพียง 26 ชั้น จะมีสภาพเหมือนตึกเล็กที่ถูกสิ่งก่อสร้างขนาบซ้ายขวา โดย 1ใน 2 โครงการสร้างแล้วเสร็จ (โครงการ The Key สาทร-เจริญราษฎร์ สูง 38 ชั้น และข้างๆ โครงการ The Key จะเป็นตึกร้างชื่อโครงการ แดน ลิฟวิ่ง สาทร-เจริญราษฎร์ ซึ่งถูก ปปง. อายัดทรัพย์โยงคดีข้าวจีทูจี.) และอีกหนึ่งโครงการที่ขณะนี้ได้ดำเนินการล้อมรั้วชั่วคราวสูง 6 เมตร มีคนงานเข้าไปในพื้นที่ คือ โครงการเดอะ เบส เจริญราษฎร์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนขอเสนอ EIA

โดยประเด็นที่มีการซักอย่างหนัก และต่อเนื่อง จะมีทั้งเรื่องแบบแปลงโครงการที่มีความน่าสงสัย เนื่องจากผังต่อโฉนดพื้นที่โครงการ (ตามเอกสารที่ให้กับลูกบ้าน) ระบุว่า ลำดับที่ 1 โฉนดเลขที่ 1035 เลขที่ดิน 54 เนื้อที่ 0-1-9 ตารางวา และลำดับที่ 2 โฉนดเลขที่ 3929 เลขที่ดิน 894 เนื้อที่ 0-0-5.2 ตารางวา ใช่ที่ดินแปลงสาธารณะหรือไม่ และเรียกร้องให้ทางโครงการนำสำเนาโฉนดที่ดินมายืนยัน เพราะหากใช่ที่ดินสาธารณะ นั่นหมายความถึงที่ดินอันเป็นประโยชน์ของประชาชน

เรื่องของปัญหาการจราจรที่จะมีการเพิ่มความหนาแน่นของปริมาณรถยนต์ เนื่องจากด้วยขนาดจำนวนห้องพักที่มีจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการสัญจร และในระหว่างการก่อสร้าง รถบรรทุกปูนซีเมนต์ที่เคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ และในระหว่างการก่อสร้าง แน่นอน เรื่องฝุ่นและสิ่งสกปรกจากการก่อสร้าง จะมีผลต่อผู้อยู่อาศัยที่อยู่ด้านฝั่งที่ใกล้กับพื้นที่โครงการแสนสิริ

นอกจากนี้ หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้วยความสูงของอาคาร 37 ชั้น และยิ่งเป็นอาคารที่สร้างยาวต่อเนื่องจากถนนไปถึงปลายโครงการ และส่วนท้ายโครงการจะเป็นอาคารสำหรับการจอดรถ สภาพอาคารจะบดบังทั้งในเรื่องของแสงแดด และทิศทางลม ส่งผลให้แสงแดดในช่วงเช้าได้รับน้อยมากติดต่อกันเป็นเวลา 8 เดือนของทุกปี เช่นเดียวกับการรับลม ผู้อยู่อาศัยแทบจะไม่ได้รับลมเลย

“เราอยากเสนอให้ทางโครงการมีการปรับปรุงแบบ โดยคำนึงถึงประชาชน และผู้อยู่อาศัยรอบข้างๆ และเมื่ออาคารชุดดังกล่าวสร้างเสร็จ จะส่งผลกระทบรอบด้าน ไม่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งเราอยากให้โครงการเห็นใจเราด้วย และที่เรามารวมตัวกันครั้งนี้ก็เพื่อคัดค้านการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนรอบด้าน และหากไม่สำเร็จ จะรวมตัวกันยื่นเรื่องต่อ ก.ล.ต. และหน่วยงานราชการ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป” ข้อเรียกร้องของผู้อยู่อาศัย
พื้นที่ก่อสร้างโครงการของแสนสิริ  โดยมีโครงการศุภาลัย ไลท์ สาทร-เจริญราษฎร์ อยู่ใกล้เคียง
ด้านตัวแทนบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยนายสถิตย์ ศรีคำ กล่าวว่า “วันนี้ เรามารับฟังความเห็น ความกังวลของลูกบ้านศุภาลัย และฟังความเดือดร้อนของชุมชน ซึ่งข้อมูลที่ได้รับวันนี้จะไปพิจารณาร่วมกับทางแสนสิริ โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ราคาขายต่อ ตร.ม. ไม่ต่ำกว่าแสนบาท เนื่องจากอยู่ใกล้เมืองมาก ตามแผนจะเปิดในปี 2565 และอาจจะมีการเปิดพรีเซลส์การขายโครงการภายในปีนี้ โดยการก่อสร้างจะมีระยะเวลา 36 เดือน หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานราชการแล้ว”

สำหรับเรื่องระยะเวลาก่อสร้าง จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ยังคงเป็นจันทร์ถึงเสาร์ เวลาตั้งแต่ 08.00-17.00 น. แต่ในกรณีที่เกินกว่าเวลาดังกล่าว จะประสานกับชุมชน และผู้อยู่อาศัยในเรื่องการก่อสร้าง แต่มั่นใจสามารถควบคุมก่อสร้างไม่เกิน 4 ทุ่ม เนื่องจากในบางช่วงของงานก่อสร้างจะต้องมีความต่อเนื่องของเนื้องาน

นอกจากนี้ เรื่องของกลุ่มเป้าหมายโครงการที่บางส่วนจะเป็นลูกค้าต่างชาติประมาณ 20-30% ที่จะมาซื้อโครงการนี้ ทางโครงการได้เตรียมชัตเตอร์บัสไปส่งยังสถานีรถไฟฟ้า
ล้อมรั้วโครงการชั่วคราว อ้างมีผู้บุกรุก
นางสาวนริศรา จิตโสภา ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท เอิร์ธ แอนด์ ซัน จำกัด กล่าวปัดว่า ที่ดิน 2 แปลงที่ผู้อยู่อาศัยสงสัยว่าจะเป็นแปลงสาธารณะนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ ซึ่งในโฉนดที่ดินระบุแสนสิริ เป็นเจ้าของ และต้องเสนอต่อ EIA ดังนั้น ต้องมีเนื้อที่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าเป็นที่ดินสาธารณะ เชื่อว่าทางราชการจะไม่ยอมให้ผ่านแน่นอน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ในการทำ EIA จะถูกกำหนดด้วยมาตรการที่โครงการตึกสูงจะต้องมี ถ้าเกิดผลกระทบหลังมาตรการไม่ได้ผล ก็สามารถร้องความเสียหายได้ แต่ทั้งนี้ ในแต่ละระยะของการก่อสร้าง และดำเนินการ ก็จะมีผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกับนายรชฏ วรรณกนก กรรมการผู้จัดการ บริษัท DB Studio จำกัด สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการเดอะ เบส เจริญราษฎร์ กล่าวว่า “ไม่ใช่ที่สาธารณะ เป็นที่ดินส่วนบุคคล”

ดร. จำรัส พิทักษ์ศฤงคาร ที่ปรึกษาด้านการจราจร ระบุว่า เรามีการวิเคราะห์เรื่องดัชนีการจราจรติดขัด (Volume Capacity Ratio: V/C) มีการเก็บข้อมูลข้างเคียงว่า ปริมาณการจราจรเป็นอย่างไรบ้าง และจากแนวโน้มของเมืองแล้ว ตัวเลข V/C ได้บ่งชี้ว่า ประชากรรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น และเหตุผลที่เรื่องการจราจรเข้ามาเกี่ยวข้องในวิเคราะห์ EIA เนื่องจากทาง กทม. ระบุตัวเลขที่จอดรถเกิน 300 คัน ทางโครงการแสนสิริ ต้องทำรายงานให้ทาง กทม. พิจารณา

“เราเชื่อว่า ทุกโครงการคงไม่มีที่จอดรถครบตามจำนวนห้องพักในระดับราคาโครงการแบบนี้ ยกเว้นจะเป็นโครงการระดับพรีเมียม มีแน่ ความต่างมี และเชื่อว่าการใช้รถ ก็ใช่ว่าจะออกมาพร้อมกันทั้งหมด มีช่วงเวลา และแม้แต่โครงการที่คุณอยู่ ก็มีไม่ครบตามจำนวนห้องพัก”
สถาปนิก ชี้แจงผลกระทบการบดบังของแสงแดด และ ลม
นายรชฏ วรรณกนก กล่าวเสริมว่า ตัวอาคารที่ออกแบบจะมีระยะห่างกับโครงการศุภาลัย ชั้นล่างห่าง 68 เมตร และชั้นบนห่าง 70 เมตร ซึ่งเรามองว่า ระยะห่างระดับนี้ โอเค จะมีเพียงก็เรื่องทัศนียภาพ แสงแดด และลม ที่จะหายไป ซึ่งในส่วนของแดดที่แม้จะไม่ได้ แต่จะได้ในเรื่องของแสงเข้ามา.


กำลังโหลดความคิดเห็น