xs
xsm
sm
md
lg

บล. เคทีบี ชี้สงครามการค้า-ค่าเงิน แรงขาย ตปท. กดดันหุ้นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บล. เคทีบี คาดสงครามการค้าและค่าเงินที่อ่อนตัว ยังกดดันให้นักลงทุนต้องรับมือกับแรงขายจากต่างประเทศ แนะลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดี ราคาปรับตัวลงมามาก เช่นกลุ่มแบงก์ กลุ่มที่อิงการลงทุน และนโยบายภาครัฐฯ รวมทั้งหุ้นที่ปันผลที่ดี ประเมินประเมินเป้าดัชนีฯ สัปดาห์นี้ แกว่งกรอบ 1,600-1,690 จุด

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวถึงภาพรวมหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (25-29 มิ.ย.) ว่า ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ยังคงเป็นตัวแปรหลักของตลาด ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป 20% จึงเป็นปัจจัยที่ต้องมาดูว่าท่าทีของกลุ่มยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ จะมีการตอบโต้อย่างไร ซึ่งการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ที่มากขึ้นจะยิ่งเป็นลบต่อตลาดหุ้น เพราะจะเพิ่มความกังวลว่า การค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก รวมถึงประเทศไทยจะเกิดการชะลอตัว

ขณะเดียวกัน ด้วยปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวที่ยังกดดัน จึงยังไม่ชัดว่า แรงขายหุ้นของนักลงทุนจะสิ้นสุดเมื่อใด แรงขายล่าสุดก็เกิดจากความกังวลเรื่องค่าเงินอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เป็นตลาดที่มีแรงขายมากถึง 4% (MSCI World Index ลดลง 2%) และคาดว่าแรงขายจะยังคงมีอยู่ จึงมองว่าตลาดมีโอกาสเกิด rebound หากไม่หลุดแนวรับสำคัญที่ 1,634 จุด ความเสี่ยงของตลาด คือ สงครามการค้าจะรุนแรงขึ้น หรือเบาลง แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ และค่าเงินบาท แต่ด้วยความแข็งแรงของ GDP และกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นไทย รวมไปถึงราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก มีโอกาสที่จะเกิดแรงซื้อกลับ และประเมินว่าข่าวหรือปัจจัยในเชิงลบเหล่านี้ สะท้อนเข้ามาในดัชนีฯ มากในระดับหนึ่งแล้ว แม้โอกาสที่ดัชนีฯ จะกลับขึ้นไปหา 1,800 จุด จะไม่ง่าย แต่ที่ระดับ 1,690 จุด นั้น เรามองว่าสามารถขึ้นไปได้ไม่ยากนัก

สำหรับกลยุทธ์ในลงทุนสัปดาห์นี้ นักลงทุนอาจเตรียมพร้อมที่ขาย หากมีแรงขายกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง เราประเมินว่า ดัชนีฯ จะมีแนวรับที่แข็งแรงที่ระดับ 1,600 จุด จากดัชนีฯ ที่ซื้อขายที่ที่ระดับ forward P/E เพียง 15.2 เท่า ซึ่งค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หากดัชนีฯ ปรับตัวลง น่าจะเป็นจังหวะของการเข้าซื้อหุ้นบางตัวที่มีความแข็งแรง ไม่อ่อนไหวไปตามตลาดมากเกินไป เช่น BBL, KKP, EPG รวมถึงหุ้นที่อิงการลงทุน และนโยบายภาครัฐฯ คือ AMATA, CK ขณะที่หุ้นกลุ่มน้ำมัน แนะนำ PTTEP, PTT และหุ้นที่ผันผวนน้อยให้ผลตอบแทนปันผลที่ดี แนะนำ LH และ QH ที่ให้ผลตอบแทนด้านเงินปันผล 5-6% ต่อปี KTBST คาดกรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ 1,600-1,690 จุด


กำลังโหลดความคิดเห็น