xs
xsm
sm
md
lg

BBL มั่นใจ ศก. หนุนสินเชื่อโต-ชี้อาเซียน ยังแข็งแกร่ง-น่าสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บิ๊กแบงก์กรุงเทพ มองเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง จากการลงทุนโครงการรัฐ-ECC ดันสินเชื่อแบงก์เติบโตได้ตามเป้า ขณะที่ศักยภาพโดยรวมกลุ่มอาเซียน ยังแข็งแกร่งมีการเติบโตได้ดี

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Digital Economy to Drive ASEAN Integration - เศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน” ในงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 ภายใต้หัวข้อ “Rising City, Rising Business” ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะยังมีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะทำให้เกิดการลงทุนไปถึง 3-5 ปีข้าางหน้า ขณะที่กรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อไทย และภูมิภาคอาเซียน เพราะความสัมพันธ์กับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน หรือสหรัฐฯ นั้นยังดีอยู่

“เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ดีต่อไป ส่งผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดย 6 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นไปตามที่ตั้งไว้ และเป็นการเติบโตทุกภาคส่วน ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะทำให้เติบโตได้ 5% ตามเป้าหมาย แม้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกยังเพิ่มขึ้น แต่ก็อยู่ในแผนที่เราประเมินไว้อยู่แล้ว”

ส่วนกรณีที่มีเงินทุนไหลออกจากไทยในระยะนี้ นายชาติศิริ กล่าวว่า ยังไม่น่ากังวล พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานอื่น จะดูแลและรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ ส่วนภาคธนาคารพาณิชย์ก็มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศแถบอาเซียน ยังมีศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีโดยเฉลี่ย 6.5-8.5% และมีจำนวนประชากรรวมกัน 630 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาส และความน่าสนใจที่ดีในการเข้าไปขยายธุรกิจ ประกอบกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูง ด้วยมูลค่าจีดีพีของอาเซียนในปัจจุบันที่มีมูลค่ารวม 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ทำให้เป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก อีกทั้งการมีดินแดนที่เชื่อมต่อกับจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก ตามลำดับ ทำให้อาเซียนมีความน่าสนใจมากขึ้น

ด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของอาเซียนจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการต่างๆ ในอาเซียนเริ่มมีการลงทุนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การใช้เทคโนโลยีแบบ Internet of things เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศนอกจากจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ คือ การมีพันธมิตรที่ดี มีประสบการณ์รอบรู้เรื่องธุรกิจ และพื้นฐานของประเทศนั้นๆ อย่างดี ซึ่งจะช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด

นายชาติศิริ กล่าวอีกว่า แม้จะมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย แต่คนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ และมองถึงประโยชน์โดยรวมของสังคมที่จะร่วมกันนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ มาช่วยจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่อาเซียน ยังต้องเผชิญร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สุขภาพ และการศึกษา ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า การถือกำเนิดของเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นศักราชใหม่สำหรับอาเซียน อันจะนำไปสู่การค้นหาแนวคิดใหม่ เพื่อการรวมกลุ่มกันภายในภูมิภาคมีความยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น