xs
xsm
sm
md
lg

กยศ. เล็งฟ้องเบี้ยวหนี้อีก 1.2 แสนราย-จับมือกรุงไทย เพิ่มช่องทางจ่ายหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กยศ. เผยปีนี้เตรียมฟ้องร้องผู้ผิดนัดชำระหนี้อีก 1.2 แสนรายในปีนี้ เตรียมนำร่องเริ่มหักบัญชีเงินเดือนชำระหนี้ตั้งแต่ ก.ค. นี้ นำร่องกรมบัญชีกลาง และทุกกระทรวง ต.ค. นี้ ขณะที่ภาคเอกชนประเดิมด้วย CP ปลายปีนี้ พร้อมจับมือกรุงไทยเพิ่มช่องทางชำระหนี้ผ่าน QR Code

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามหนี้ว่า ในปีนี้ กยศ. มีเป้าหมายที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 5 งวด หรือ 4 ปี เพิ่มขึ้นอีก 120,000 ราย มูลหนี้เฉลี่ย 100,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กยศ. ปล่อยกู้ให้กับนักเรียนแล้ว 5.4 ล้านราย วงเงิน 570,000 ล้านบาท ปิดบัญชีแล้ว 800,000 ราย เป็นผู้พิการและเสียชีวิต 50,000 ราย โดยปัจจุบันมีผู้กู้รวมทั้งสิ้น 4 ล้านกว่าราย เป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1 ล้านกว่าราย และผิดนัดชำระหนี้ 3 ล้านราย ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 1.2 ล้านราย วงเงิน 48,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกฟ้องร้องหากต้องการประนีประนอมก็สามารถนำหมายศาลพร้อมทนายมาทำสัญญาประนีประนอมกับ กยศ. ได้ โดยสามารถยืดระยะเวลาการผ่อนชำระได้ 9 ปี”

ขณะที่เงินชำระคืนในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท แต่ในปีหน้าที่จะมีการหักบัญชีเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานราชการ ก็น่าจะมีวงเงินคืนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินปล่อยกู้ในปีนี้ตั้งเป้าประมาณ 30,000 ล้านบาท ปล่อยกู้นักเรียนได้ประมาณ 700,000 ราย

ด้านโครงการนำร่องการชำระคืนหนี้ กยศ. ด้วยการหักหนี้ กยศ. จากเงินเดือนกรณีที่เป็นข้าราชการนั้น จะเริ่มได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และในเดือนตุลาคม ก็จะสามารถใช้กับทุกกระทรวง โดย กยศ. มีผู้กู้ที่เป็นข้าราชการอยู่ 170,000 ราย วงเงิน 16,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่ชำระปกติ 90,000 ราย ผิดนัดชำระหนี้ 70,000 ราย และในสิ้นปีนี้จะเริ่มกับภาคเอกชน โดยจะเริ่มที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) รวมถึงธนาคารกรุงไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆเป็นลำดับถัดไป

สำหรับการดำเนินงานของ กยศ. ในปีนี้นับจากวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระงินคืนกองทุน โดยในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้ กองทุนได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยช่องทางหลักที่ให้บริการโอนเงินกู้ยืม และชำระหนี้ในการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้กู้ยืม กยศ. และ กรอ. ด้วย คิวอาร์โค้ด รวมถึงช่องทางเดิมที่ได้เปิดให้บริการอยู่แล้ว ได้แก่ การหักบัญชีออมทรัพย์อัตโตมัติ, เคาน์เตอร์ธนาคาร, ตู้เอทีเอ็ม, กรุงไทยเทเลแบงก์, KTB netbank ทาง Internet, KTB netbank ทาง Mobile Application และบาร์โค้ด ผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส

กรุงไทย เพิ่มช่องทางชำระด้วย QR Code

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากกองทุนให้เป็นผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ซึ่งธนาคารได้พัฒนาช่องทางในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ และเพื่อสนับสนุนนโยบายการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการ Na-tional e-Payment ของรัฐบาล ธนาคารจึงได้พัฒนาระบบงานเพื่อให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้คืน กยศ. และ กรอ. ผ่านการสแกน QR Code โดยสามารถชำระผ่าน Mobile Banking Application ของทุกธนาคาร ระหว่างเวลา 07.30-20.30 น. โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ

ทั้งนี้ การชำระหนี้คืนกองทุน ผ่าน QR Code สามารถชำระได้ 2 รูปแบบ คือ แบบ Static QR โดยการ สแกน QR Code ผ่านบริการ KTB netbank และเลือกประเภทกองทุนที่ต้องการชำระหนี้คืน หรือแบบ Dynamic QR เป็นการสแกน QR Code ผ่าน www.studentloan.ktb.co.th หรือ www.studentloan.or.th ด้วย Mobile Banking Application ทุกธนาคาร


กำลังโหลดความคิดเห็น