ประธานแบงก์ ธอส. เผยคลังเตรียมออกกฎหมายจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เป็นนิติบุคคล หวังให้รวบรวมข้อมูลบ้านใหม่-มือสอง นายทะเบียนรับจดทะเบียนนายหน้า พร้อมเผย 5 เดือน ธอส. ปล่อยกู้ 8 หมื่นล้าน คาดสิ้นปีปล่อยกู้ทะลุเป้า 2 แสนล้านบาท เหตุตลาดอสังหาฯ ปรับตัวดีขึ้น ด้านศูนย์ข้อมูลเผยบ้าน-คอนโดฯ ค้างสต๊อก 5 แสนล้านบาท
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานคณะกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และประธานอำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม สำรวจ วิจัยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ นำมารายงานต่อภาครัฐเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำนโยบาย และการวางแผนที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลสู่ภาคเอกชนเพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนในการลงทุน ซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา จากความร่วมมือด้านข้อมูลทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีเป้าหมายต้องการยกระดับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้องค์กรมหาชน โดยมีแผนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งจะต้องมีการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาใหม่ โดยจะเร่งให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นนิติบุคคลภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งในอนาคต ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขอบข่ายการทำงานมากขึ้น ซึ่งนอกจากรวบรวมข้อมูลในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้านใหม่แล้ว ต่อไปจะรวบรวมข้อมูลบ้านมือสอง รวมถึงทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนจดทะเบียนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ จัดทำข้อมูลในส่วนของโรงแรมด้วย
สำหรับแนวทางการจัดตั้งศูนย์มูลอสังหาฯ เป็นนิติบุคคล จะต้องร่างกฎหมายการจัดตั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ จะถูกโยกมาเป็นพนักงานของ ธอส. แต่ยังทำหน้าที่เดิม รวมถึงทำหน้าที่ของ ธอส. ด้วย และภายหลังจากก่อตั้งศูนย์ข้อมูลเป็นนิติบุคคลแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลสามารถย้ายมาเป็นพนักงานศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ หรือจะยังคงเป็นพนักงานของ ธอส. ได้ตามความสมัครใจ
ธอส. คาดปี 61 ปล่อยกู้ทะลุ 2 แสนล้าน
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2561 แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดภูมิภาค เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจซื้อบ้าน จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5%
สำหรับผลการดำเนินงานของ ธอส. ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ จำนวน 80,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ทำให้เชื่อว่าทั้งปีจะสามรถปล่อยสินเชื่อปล่อยใหม่ได้เกินกว่า 200,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในปี 2561 จำนวน 19,000 ล้านบาท
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า บทบาทของ ธอส. ในการเป็นฟันเฟืองในการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญ มีการซื้อขายมูลค่ามหาศาล ปีละ 750,000 ล้านบาท เป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีส่วนขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ธอส. มีส่วนร่วมใน 2 มิติ คือ มิติแรก คือ การสนับสนุนตามพันธกิจของ ธอส. ให้คนไทยมีบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร รับสร้างบ้าน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ และการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ ธอส. จะปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อย บุคลากร ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ ในวงเงินเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท โดยเป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 30,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บุคลากรภาครัฐ) โดยล่าสุดจะเซ็นบันทึกความเข้าใจกับกองทัพในการปล่อยกู้ให้กับบุคลากรของกองทัพ และทหาร 3 เหล่าทัพวงเงิน 30,000 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ 2 รูปแบบ คือ ดอกเบี้ย 3.99% ระยะเวลา 10 ปี และ 3.75% เป็นเวลา 5 ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกรูปแบบไหน
ธอส. จะขยายการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ หลังจากไม่ได้ปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้มาเป็นเวลานานมาก โดยจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเรียกว่าเป็นสตาร์ตอัปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีที่ดินเป็นของตนเอง เบื้องต้น จะปล่อยกู้ในวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาด และเป็นการขยายสินเชื่อรายย่อยของธอส.ได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยในภูมิภาค
ศูนย์ข้อมูลฯ เผยบ้าน-คอนโดค้างสต๊อก 5 แสนล้าน
ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์ 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลฯ ได้จัดทำรายงานสรุปผลการสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายล่าสุด ณ สิ้นปี 2560 นับเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุดที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วยต่อโครงการ พบว่ามีจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างขายทั้งหมด 1,584 โครงการ มีจำนวนหน่วยในผังรวม 458,943 หน่วย และมีมูลค่าโครงการรวม 1,764,603 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอุปทานเหลือขาย จำนวน 142,860 หน่วย มูลค่ารวม 549,807 ล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร มีจำนวน 1,135 โครงการ มีจำนวนหน่วยในผังรวม 212,997 หน่วย มีมูลค่าโครงการรวม 916,112 ล้านบาท และมีหน่วยเหลือขาย จำนวน 80,449 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.3 ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด มูลค่าเหลือขายรวม 340,302 ล้านบาท ส่วนโครงการอาคารชุด มีจำนวน 449 โครงการ มีจำนวนหน่วยในผังรวม 245,946 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 848,491 ล้านบาท และมีหน่วยเหลือขาย จำนวน 62,441 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด มูลค่าเหลือขายรวม 209,504 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมโครงการเหลือขายพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสัดส่วนที่อยู่อาศัยเหลือขายร้อยละ 31.1 มีมูลค่าเหลือขาย 549,807 ล้านบาท ในประเภทบ้านจัดสรร ณ สิ้นปี 2560 ทาวน์เฮาส์มีสัดส่วนเหลือขายมากที่สุด ร้อยละ 53.6 โดยส่วนใหญ่เหลือขายในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท รองลงมา เป็นบ้านเดี่ยว เหลือขายร้อยละ 31.5 โดยส่วนใหญ่เหลือขายอยู่ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท บ้านแฝด เหลือขายร้อยละ 10.3 โดยเหลือขายในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาทมากที่สุด อาคารพาณิชย์พักอาศัย เหลือขายร้อยละ 4.3 โดยเหลือขายในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาทมากที่สุด และที่ดินเปล่า เหลือขายร้อยละ 0.2 โดยเหลือขายในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาทมากที่สุด ตามลำดับ
ทำเลของโครงการบ้านจัดสรรที่เหลือขาย มากที่สุด 5 อันดับแรก ณ สิ้นปี 2560 ได้แก่ 1) ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ 2) จังหวัดสมุทรปราการ 3) บางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย ซึ่งเป็นแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เปิดให้บริการแล้ว 4) สมุทรสาคร และ 5) มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง โดยทั้ง 5 ทำเลนี้เหลือขายเป็นประเภททาวน์เฮาส์ ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาทในสัดส่วนมากที่สุด ยกเว้นทำเลสมุทรปราการ เหลือขายประเภททาวน์เฮาส์ ในระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาทในสัดส่วนมากที่สุด
ในประเภทโครงการอาคารชุด พบว่า ณ สิ้นปี 2560 ห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน เหลือขายมากที่สุดร้อยละ 66.2 โดยส่วนใหญ่เหลือขายในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท รองลงมาเป็นห้องชุดแบบสตูดิโอ เหลือขายร้อยละ 22.1 ซึ่งส่วนใหญ่เหลือขายในระดับราคา 1.01-1.50 ล้านบาทมากที่สุด ส่วนประเภทห้องชุดแบบ 2 ห้องนอน มีสัดส่วนเหลือขายร้อยละ 10.7 ซึ่งส่วนใหญ่เหลือขายในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาทมากที่สุด และห้องชุดแบบ 3 ห้องนอนขึ้นไป เหลือขายร้อยละ 0.9 ซึ่งส่วนใหญ่เหลือขายในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปมากที่สุด
ทำเลของโครงการอาคารชุดที่เหลือขาย มากที่สุด 5 อันดับแรก ณ สิ้นปี 2560 ได้แก่ 1) จังหวัดนนทบุรี 2) ธนบุรี ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตากสิน-บางหว้าที่เปิดให้บริการแล้ว 3) จังหวัดสมุทรปราการ 4) ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง และ 5) จังหวัดปทุมธานี โดยทำเลจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ เหลือขายเป็นประเภท 1 ห้องนอน ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาทในสัดส่วนมากที่สุด ส่วนทำเลธนบุรี และห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง เหลือขายเป็นประเภท 1 ห้องนอน ในระดับราคาที่สูงกว่าทำเลอื่น คือ ระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาทในสัดส่วนมากที่สุด และทำเลจังหวัดปทุมธานี เหลือขายประเภทสตูดิโอ ในระดับราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาทมากที่สุด
สำหรับในปี 2561 ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ประมาณการอุปทานเหลือขายที่อยู่อาศัยในตลาด กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยประมาณ 145,099 หน่วย ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยแนวราบมีประมาณ 80,490 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 55.5 และอาคารชุดมีประมาณ 64,609 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 45.5 โดยประมาณการว่าหน่วยที่เหลือขายมากที่สุด คือ อาคารชุดร้อยละ 44.5 รองลงมา เป็นทาวน์เฮาส์ ร้อยละ 32.4 บ้านเดี่ยวร้อยละ 16.0% ที่เหลือเป็น บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์