xs
xsm
sm
md
lg

คลังคงเป้าหมายจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ 4.2% ปลื้มส่งออก-ท่องเที่ยวโตร้อนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังคงเป้าหมายจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ 4.2% ปลื้มส่งออก-ท่องเที่ยวโตร้อนแรงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ รับลงทุน-บริโภคภาครัฐอืด หลังรัฐวิสาหกิจปรับแผนลงทุน พ่วงเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย มองการเมืองในภูมิภาคคลี่คลาย เป็นสัญญาณบวกเศรษฐกิจมากขึ้น

27 เม.ย. 61 - นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2561 ไว้ที่ 4.2% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.9-4.5% ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่ 6.6% สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้อย่างชัดเจน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทย 39.9 ล้านคน เติบโต 12.8% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรกของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติ ขยายตัวสูงถึง 15.4% หรือ 10.6 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านล้านบาท หรือ 17% จากเดิมอยู่ที่ 2.05 ล้านล้านบาท

ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 8.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 11.8% และการบริโภคภาครัฐ ลดลงมาอยู่ที่ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีการปรับแผนการลงทุน อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับแผนลดลง 5 พันล้านบาท การเคหะแห่งชาติ ปรับแผนลดลง 3 พันล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับแผนลดลง 1.1 พันล้านบาท รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการไม่เป็นไปตามคาดการณ์ แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2/2561 สถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากส่วนราชการได้มีการก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือ 29.1% ของงบประมาณ

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของภาคการค้าโลก จากปัญหาการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเรื่องนี้ สศค. มองในเชิงบวกว่าสถานการณ์เริ่มมีการคลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มมีท่าทีที่อ่อนลงภายหลังจากจีนได้มีการออกมาตรการตอบโต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต้องติดตามต่อว่าผลของเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่มีทิศทางดีขึ้น สะท้อนความไม่สงบได้คลี่คลายลงแล้ว ทำให้อุณหภูมิความร้อนแรงจากปัญหาการเมืองในภูมิภาคลดลง น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นกับเศรษฐกิจ รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังมีสัญญาณความผันผวนอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น