xs
xsm
sm
md
lg

ไอเฟคฯ ลุ้นผลศาล 13-15 ก.ค. นี้-ก่อนเดินหน้าประชุมผู้ถือหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ลุ้นศาลสั่้งศาลกลาง ก.ค. นี้ เพื่อนัดสืบพยานและพิจารณาคดี ก่อนจัดประชุมผู้ถือหุ้น เคลียร์ปัญหา เปิดทางเจ้าหนี้เจรจา ติงภาครัฐไม่ช่วยแก้ปัญหา เชื่อหากทุกฝ่ายช่วยจะเกิดผลดี และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น

นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้น IFEC รอเพียงคำสั่งของศาลในวันที่ 13-15 ก.ค. นี้ ที่จะมีการสืบพยาน และพิจารณาคดีที่มีผู้มาคัดค้านไม่ไห้บริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมตัดสินการแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวที่จะเป็นประธานกรรมการชั่วคราวในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปในการที่จะมีคณะกรรมการเข้ามา และสามารถรับรองงบผลการดำเนินงานปี 60 การจัดทำแผนงานของบริษัท และการอนุมัติการชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

“ปัจจุบัน IFEC ถือว่ามีความสามารถในการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ เพราะ IFEC มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดยมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้เราติดปัญหาทางกฏหมาย และไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นได้ ทำให้เราไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาอนุมัติรายการต่าง ๆ ได้ ซึ่งก็อยากจะเดินหน้าต่อ แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้มีความล่าช้าเกิดขึ้น ผมยินดีที่จะให้เจ้าหนี้เข้ามาพูดคุยหรือมาทำข้อตกลงกัน แต่ไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย เพราะว่าไม่ได้เป็นการพูดคุยผ่านบอร์ดที่ได้รับการรับรองแล้ว แต่ก็เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ทุกคนเข้ามาคุยได้” นายศุภนันท์ กล่าว

ทั้งนี้ การเดินหน้ากระบวนต่างๆของ IFEC ยังคงต้องรอคำตัดสินของศาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของบริษัทลูกของ IFEC ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ และสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัท โดยส่วนใหญ่มาธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งผลการดำเนินงานปี 60 ของบริษัทได้จัดทำแล้วเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีกรรมการรับรองงบ ทำให้แจ้งงบผลการดำเนินงานปี 60 ไม่ได้ แต่มั่นใจว่ามีผลการดำเนินงานในทิศทางที่ดีขึ้น

นายศุภนันท์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ของบริษัทได้ชี้แจงแก่เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) โดยได้อธิบายให้เห็นถึงความผิดปกติในการซื้อขายกิจการของโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพย์สินสำคัญของ IFEC จนกลายเป็นส่วนสำคัญของต้นเหตุปัญหาทางการเงินของ IFEC ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้ตั๋ว B/E และผู้ถือหุ้นรายย่อย

นายประสิทธิ วงศาสวัสดิ์ ทนายความ IFEC กล่าวว่า IFEC ต้องการเชิญชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันตรวจสอบความผิดปกติภายในบริษัท หลังจากผู้บริหารชุดปัจจุบันพบความผิดปกติของการซื้อขายกิจการโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญของ IFEC ซึ่งตามปกติขั้นตอนการซื้อขายต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) และเข้าตรวจสอบทรัพย์สิน แต่การซื้อขายโรงแรมดาราเทวีกลับทำดีลในเดือน ต.ค. 58 แล้วจึงย้อนกลับมาทำ MOU ในเดือน พ.ย. 58

นอกจากนั้น จากการพบพิรุธและข้อน่าสงสัย ทำให้ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงินของ IFEC และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เข้ายื่นหลักฐานและเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบความผิดปกติดังกล่าว
 
นายศุภนันท์ กล่าวต่อว่า ต้นเดือนที่ผ่านมา IFEC ได้ส่งจดหมายเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้และผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IFEC ให้เข้าร่วมกับ ก.ล.ต. ตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี
 
นอกจากนี้ IFEC ได้ฟ้องคดีแพ่ง และคดีอาญา รวมทั้งแจ้งความร้องทุกข์ต่อ DSI กรณีพบข้อมูลว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องที่สร้างเงื่อนไขซื้อขายอาคารให้ตัวเองได้รับประโยชน์ ฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่พยายามครอบงำกิจการในลักษณะผิดปกติ แจ้งความร้องทุกข์ต่อ ปอศ. ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีการสร้างเงื่อนไขซื้อขายโรงแรมให้ตัวเองได้รับประโยชน์ และปกปิดข้อมูลเพื่อสร้างราคาซื้อขายจริง ร้องทุกข์ต่อ ปอศ. ดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุจริตการซื้อขายขนมของร้านในเครือดาราเทวี และยังเตรียมดำเนินคดีอีกหลายกรณี

“พบข้อมูลว่ามีการปกปิดความจริงมีการถ่ายเงินออกไป ซึ่งสงสัยว่าจะนำไปซื้อหุ้นหรือไม่ และการสร้างหนี้ค่าก่อสร้างขึ้นมา ยังเป็นที่สงสัยว่าหนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ทำให้ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม” นายศุภนันนท์ กล่าว

ด้านหนี้สินของบริษัททั้งหนี้หุ้นกู้ และหนี้ตั๋ว B/E ที่เกินกำหนดชำระแล้ว มีรวมกันอยู่ที่กว่า 6 พันล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทยังไม่สามารถอนุมัติชำระเงินได้ เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในการอนุมัติ หลังคณะกรรมการบริษัทมีจำนวนไม่ครบ 9 คน โดยที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริษัทอยู่ที่ 3 คน และไม่สามารถจัดการเปิดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทได้

นายประสิทธิ กล่าวว่า แม้ว่าหน่วยงานกำกับหรือหน่วยงานภาครัฐจะออกมาเร่งให้ IFEC เร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเร็ว แต่ไม่ได้ช่วยชี้ทางออกหรือสิทธิในการแก้ปัญหาให้กับบริษัท มีแต่การจำกัดสิทธิของบริษัท ซึ่งหากทุกคนต่างช่วยกันหาทางออกของปัญหาได้ จะเกิดผลดีและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นกลับมา


กำลังโหลดความคิดเห็น