พิษตั๋ว B/E ฝังลึก บลจ.โซลาริส กระอักจ่อเลิกกิจการ หลังหนี้คงค้างรวมกว่า 1.6 พันล้านบาท ส่งผลให้กองทุนสภาพคล่องทรุดฮวบ แม้ผู้ถือหุ้นใส่เงินเพิ่มแล้ว ล่าสุด แจ้ง ก.ล.ต. เตรียมเลิกกิจการ พรัอมเจรจาหาผู้ลงทุนใหม่ หรือขายใบอนุญาตออก ด้านเลขาฯก.ล.ต. ระบุไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และมีการแยกหนี้เพื่อคืนผู้ถือหน่วยตามกฎหมายอยู่แล้ว
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หลังจากช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีของบริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่งส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ได้รับผลกระทบนั้น ล่าสุด บลจ.โซลาริส ได้ทำการแจ้งต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการเลิกกิจการ เนื่องจากเงินกองทุนสภาพคล่องลดต่ำลง ถึงแม้ได้มีการเพิ่มทุนไปแล้ว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ บลจ.โซลาริส พบว่า มีตั๋ว บี/อี ที่ผิดนัดชำระหนี้รวมมูลหนี้ประมาณ 1,600 ล้านบาท ประกอบด้วยตั๋ว บี/อี บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ซึ่งเริ่มมีปัญหาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 จนถึงปัจจุบันกองทุนของ บลจ.โซลาริส ยังมีหนี้ตั๋ว บี/อีของ IFEC ที่ยังไม่ได้รับชำระประมาณพันล้านบาท อีกทั้งยังมีตั๋ว บี/อี ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ประมาณ 100 ล้านบาท ตั๋ว บี/อี บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ (KC) ประมาณ 350 ล้านบาท และบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง (WCIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) ที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ประมาณ 150 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ ซึ่งถือหุ้น 100% ใน บลจ.โซลาริส อยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันทั้งในและต่างประเทศหลายแห่งที่สนใจเข้ามาซื้อหุ้น บลจ.โซลาริส ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นรูปแบบใด อาจเพิ่มทุนโดยเปิดให้พาร์ทเนอร์เข้ามาถือหุ้น บลจ.โซลาริส หรือขายทั้งหมด ซึ่งเท่าที่ทราบสถาบันการเงินที่เข้ามาเจรจาบางแห่งต้องการนำแพลทฟอร์มไปดำเนินธุรกิจเฉพาะกองทุนส่วนบุคคล
“ขณะนี้ บลจ.โซลาริส ทยอยปิดกองทุนลงต่อเนื่อง โดยจะโอนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้ บลจ. รายอื่นบริหารจัดการต่อไป ซึ่งเหมือนกรณีของบลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ที่เลิกกิจการไปก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบัน บลจ.โซลาริส มีกองทุนรวมอยู่จำนวน 5 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 835.78 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ 2 กองทุน มูลค่ารวม 795.68 ล้านบาท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 2 กองทุน มูค่ารวม 9.78 ล้านบาท และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 1 กองทุน มูลค่า 30.30 ล้านบาท ส่วนกองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2561 มูลค่า 1,977 ล้านบาท” แหล่งข่าว กล่าว
ด้าน นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ก.ล.ต.ได้รับแจ้งจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ว่าจะดำเนินการเลิกกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเงินเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทลดต่ำลง ถึงแม้ผู้ถือหุ้นได้เพิ่มทุนไปแล้วก็ตาม
“ธุรกิจกองทุนขึ้นอยู่กับขนาด พอมีข่าวออมากระทบ ลูกค้าใหม่ก็ไม่เข้ามาลงทุน ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้บริหารไม่เติบโต บริษัทต้องแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายไว้อย่างเดียว ผู้ถือหุ้นอาจคิดว่าไม่คุ้มและเมื่อดำรงเงินกองทุนไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการลง”นายรพี กล่าว
อย่างไรก็ตาม บลจ.โซลาริส อยู่ในขั้นตอนการเลิกกิจการ ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายต่อุตสาหกรรมกองทุนรวม อีกทั้งกฎหมายกำหนดให้กองทุนถูกแยกส่วนออกจาก บลจ. อยู่แล้ว
สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนที่ได้รับความเสียหายจากตั๋วบี/อีของบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้นั้น ที่ผ่านมากองทุนแยกเงินลงทุนส่วนที่ลงทุนในตั๋วบี/อี ที่มีปัญหาออกจากกองทุนแล้ว ซึ่งหากบริษัทที่ออกตั๋วชำระหนี้คืน กองทุนจะนำเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต่อไป