โบรกเกอร์หั่นเป้าดัชนีหุ้นไทย-กำไรกลุ่มแบงก์ หลังฟรีค่าธรรมเนียม ห่วงสงครามการค้ารุนแรงกลายเป็นสงครามค่าเงิน
สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน จัดงานการวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้น ภายใต้สงครามการค้าโลก และ สงครามธุรกิจธนาคารไทย นางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล. เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเดือนเมษายนนี้ บล. เอเซียพลัส จะปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 1,800 จุด เหลือประมาณ 1,760-1,765 จุด พร้อมทั้งจะปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียนลงจากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 7 เนื่องจากผลกระทบจากการที่ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกปรับลดลงประมาณร้อยละ 5.6 ในปี 2561 และ ลดลงร้อยละ 7 ในปี 2562 หลังจากที่รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะ 6 ธนาคารขนาดใหญ่ ลดลงร้อยละ 7.4 ในปีนี้ และลดลงร้อยละ 11 ในปีหน้า หรือกำไรลดลงเฉลี่ย 10,000 ล้านบาทในปีนี้ และปีหน้า ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี เพราะต้องเร่งหารายได้มาชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป และอาจทำให้การปิดสาขาและปรับลดพนักงานเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร
ส่วนปัญสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เป็นปัจจัยที่กดดันการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลก และ ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น แต่เชื่อว่าสงครามการค้าจะมีทางออกที่ดี คาดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะประนีประนอม และไม่เกิดความรุนแรง เพราะหากสงครามการค้าเกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบต่อทั่วโลก และอาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามค้าเงิน โดยจีนอาจจะลดค่าเงินหยวน เพื่อให้สินค้าจีนสามารถแข่งขันได้
นายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ราคาหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงไปมาก รับข่าวความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ ยังเชื่อว่าแนวโน้มหุ้นไทยยังเป็นขาขึ้น ผลบวกมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่จะขยายตัวได้ดีจากการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทำให้ยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ที่ 1,900 จุด
ด้านนางสาวมยุรี โชวิกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยยังคงเป้าหมายดัชนีที่ 1,800 จุด มาจากการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ยังขยายตัวได้ดีโตร้อยละ 4.3 และกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตสูงถึงร้อยละ 11-12 โดยรอปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร หากไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เชื่อว่าความมั่นใจของนักลงทุนจะกลับมาเป็นปกติ