ไทยพาณิชย์ คงจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 4 จับตาความเสี่ยงสงครามการค้าโลก อาจกระทบต่อส่งออกไทยโตร้อยละ 5 ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าทรงตัวที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจุกตัว เงินเฟ้อต่ำปรับขึ้นช้า ๆ
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้โต ร้อยละ 4 ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก และการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวที่ร้อยละ 5 แต่ยังจับตาความเสี่ยงภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรกลุ่มสินค้าเกษตรเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงจากการที่สหรัฐฯ เริ่มมาตรการกีดกันทางการค้า และสถานการณ์อาจจะบานปลาย ไปเป็นสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ หากมีมาตรการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกไทย แต่ยังเชื่อว่าสงครามการค้าโลกไม่น่าจะเกิดขึ้น
นายยรรยง กล่าวว่า การเติบโตที่ต่อเนื่องในภาคการส่งออกส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 67-68 ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับมีความชัดเจนที่มีเพิ่มขึ้นของโครงการลงทุนภาครัฐ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.1 และการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3
ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศกระจุกตัว โดยการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงยังขยายตัวต่อเนื่อง จากการซื้อสินค้าคงทน นำโดยยอดขายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีข้อจำกัด ทั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโตเพียงร้อยละ 2.3
“อีไอซี จะมีการทบทวนจีดีพี และการส่งออก อีกครั้งในข่วงไตรมาส 2 โดยจะขอติดตามการส่งออก หลังจากที่การส่งออก 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 13.8 เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมราคาสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งแนวโน้มราคาน้ำมันครึ่งปีหลัง มีโอกาสปรับลดลง คาดปีนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล” นายยรรยง กล่าว
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าทรงตัวที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจุกตัว เงินเฟ้อต่ำปรับขึ้นช้า ๆ อยู่ที่ร้อยละ 1.1 และคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้