หุ้น “เคมีแมน” เข้าซื้อขายวันแรก ปิดเหนือจอง 4.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.52 บาท คิดเป็น 13.54% จากราคาไอพีโอที่กำหนดหุ้นละ 3.84 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,614.49 ล้านบาท ผู้บริหารเดินหน้าเจรจาร่วมทุนพันธมิตรรุกก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ในอินเดีย เล็งซื้อกิจการในเวียดนามคาดได้ข้อสรุปในหนึ่งปี เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
วานนี้ (20 มี.ค.) หุ้นของบริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก โดยเปิตตลาดพบว่า ราคาหุ้นตอนเปิดตลาดอยู่ที่ 5 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาจอง IPO ที่กำหนดไว้หุ้นละ 3.84 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30.2% ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาท ต่ำสุดที่ 4.34 บาท เมื่อปิดตลาดพบว่าราคาหุ้นอยู่ที่ 4.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.52 บาท คิดเป็น 13.54% มูลค่าซื้อขาย 1,614.49 ล้านบาท
นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น 2 รายในประเทศอินเดีย ดำเนินการก่อสร้างโรงงานปูนไลม์ 2 แห่งในเมือง Visakhapatnam และเมือง Tuticorin ซึ่งเป็นเมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของอินเดีย เพื่อผลิตและจำหน่ายปูนไลม์ และแร่หินปูนเคมีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต คาดว่าโรงงานทั้ง 2 แห่งจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2562 ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม (ณ ปี 2562) เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 9 แสนตันต่อปี
CMAN เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปูนไลม์ และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเพียงรายเดียวที่มีทั้งโรงงานผลิต และได้รับประทานบัตรเหมืองอายุ 25 ปี (สิ้นสุด 23 มิ.ย. 2583) ที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ (Ultra-high Calcium Limestone) จะส่งผลดีต่อการควบคุมคุณภาพ และความมั่นคงของวัตถุดิบ รวมถึงโอกาสการเติบโตจากการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
สำหรับปีนี้ CMAN คาดว่า รายได้จะเติบโตประมาณ 15% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามสัญญา และต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งปีนี้บริษัทจะมีปริมาณการขายขึ้นเป็น 7 แสนตัน และจะเพิ่มเป็น 9 แสนตันในปีนี้ และในปี 62 เพิ่มประมาณ 1 ล้านตัน
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมทุนหรือเข้าซื้อกิจการโรงงานปูนไลม์ในเวียดนาม คาดชัดเจนในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ อีกทั้งอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมี และผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ ต่อเนื่อง คาดว่าจะมีข้อสรุปในช่วงปลายปีนี้ พร้อมเน้นเพิ่มการผลิตลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม และหากผลการเจรจาเป็นไปตามแผน คาดว่าจะใช้เงินทุนช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ประมาณ 300-800 ล้านบาท