“สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” บิ๊กบอส “ช ทวี” ส่งสัญญาณแนวโน้มผลงานปี 61 โตสุดตระการตา หลังตุน Backlog หนากว่า 6,500 ล้านบาท จ่อบุ๊กรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2561 เป็นต้นไป พร้อมส่งมอบรถเมล์ NGV ล็อตแรก 100 คัน มีนาคมนี้ ขณะที่งานโครงการ E-Ticket และ Cash box บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แม้ ขสมก. ขอเจรจาพิจารณาการติดตั้งกล่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box หลังจากการตรวจรับ 100 คันแรกภายในเดือนมีนาคม 2561 ก่อน แต่ต้องติดตั้งเครื่อง E-Ticket ให้ครบ 2,600 คัน ภายใน มิ.ย. 2561
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถังและติดตั้งระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ผสานเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบราง และลอจิสติกส์เข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2561 คาดว่าจะเติบเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณงานในมือ (Backlog) ที่มีกว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้แต่ตั้งแต่ไตรมาส 1/2561 เป็นต้นไป
ขณะที่งานโครงการรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรถโดยสาร จำนวน 489 คัน ปัจจุบัน กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ได้นำเข้าตัวรถมาแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องยนต์ เกียร์ คัสซี และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งนำรถตัวอย่างเข้าทดสอบ ตามเส้นทางของ ขสมก. พร้อมเตรียมทยอยส่งมอบงานล็อตแรก จำนวน 100 คัน ภายในเดือนมีนาคมนี้
ส่วนความคืบหน้างานโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ “แคชบ็อกซ์” (Cash box) บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน ปัจจุบัน บริษัทฯ มีแผนดำเนินการติดตั้งเครื่อง E-Ticket ต่อเนื่องให้ครบ 2,600 คันตามกำหนด และในส่วนเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ “แคชบ็อกซ์” (Cash box) ขณะนี้ ขสมก. ได้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อกฎหมาย และพิจารณา เพื่อดำเนินการตัดสินใจ เรื่องกล่องเก็บค่าโดยสาร “แคชบ็อกซ์” (Cash box) หลังจากการตรวจรับ 100 คันแรกภายในเดือนมีนาคม 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคตจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด
“หากว่าจะมีข้อยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) แต่เครื่องดังกล่าวก็เป็นหนึ่งใน Hardware ร่วมกับเครื่อง E-Ticket นอกจากนี้ ใน TOR ยังต้องมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบรวมทั้ง Software การฝึกอบรม และการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จะต้องส่งข้อมูลให้กับ ขสมก. และการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ ให้ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากยกเลิกการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) Software ระบบ อุปกรณ์ และการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำสรุปรายงาน และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงใช้งานเท่าเดิม ส่งผลทำให้มูลค่าโครงการลดลงไม่มากนัก” นายสุรเดช กล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ ความคืบหน้าการเข้าร่วมประมูลงานโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่น ร่วมกับพันธมิตร จำนวน 2 โครงการ ปัจจุบัน สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สรุปผลการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาค จ.ขอนแก่น ระยะทาง 26 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งให้จังหวัดดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบผลชัดเจนได้ภายในไตรมาส 2 นี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นขยายตลาดทั้งในประเทศ อาทิ การขยายฐานลูกค้าด้านการขนส่งตามหัวเมืองใหญ่ ๆ การเข้าประมูลงานทั้งภาครัฐ และเอกชน และต่างประเทศ อาทิ การเจาะตลาดรถลำเลียงอาหาร, รถอื่น ๆ ที่ใช้ในสนามบิน, รถใช้ในภาระกิจอื่น ๆ, เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และผลิตรถตามออเดอร์ เป็นต้น ไปพร้อมกับการขยายศูนย์บริการซ่อมรถบรรทุก “สิบล้อ 24 ชั่วโมง” ให้ครบ 8 แห่ง ภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) รวมทั้งงานบริหารโครงการต่าง ๆ โครงการ Smart Transit เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัท รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น