ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับขึ้น (เมษายน 2561) อยู่ที่ 156.62 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.74% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 153.94 ปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นในเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ผลดีจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคและในประเทศขยายตัว
ดร. สันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในภาวะร้อนแรงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากความเชื่อมั่นในเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค และในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังเฝ้าจับตาการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มธุรกิจส่งออก เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่น สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนมกราคม ดัชนีฯ มีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีฯ ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2561) อยู่ที่ 156.62 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120-160) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.74% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 153.94
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศ และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสถาบันภายในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
ส่วนหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
“ภาวะการลงทุนในเดือนมกราคม ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นทำลายสถิติดัชนีปิดทำการสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยราคาปิดสูงสุดที่ระดับ 1838.96 จุดในวันที่ 24 มกราคม 2561 โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดทุน จากตัวเลขเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีการคาดการณ์การขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย IMF ปรับเพิ่มประมาณการ GDP โลกปี 2018-2019 เป็นขยายตัว 3.9% ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเงินทุนดังกล่าว นักลงทุนมองว่าเป็นปัจจัยฉุดการลงทุนเช่นกันจากผลกระทบต่อค่าเงินบาท และค่าเงินในภูมิภาค ที่อาจกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยังคงมีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ จำนวน 3-4 ครั้งตามทิศทางดังกล่าว”
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2561
“ผลจากดัชนีคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงต่ำกว่ากรอบนโยบาย”
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้ อยู่ที่ระดับ 52 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งหน้า โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สูงนัก 2) อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และ 3) อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลก
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 78 และ 87 ตามลำดับ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ปรับลดลงจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 83) ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับขึ้นจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 83) ดัชนีทั้งสองอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางที่เพิ่มขึ้นทั้งคู่ แต่ตลาดมีความมั่นใจที่มากขึ้นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี จะปรับสูงขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญใน 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) อุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย 2) Fund Flow 3) การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และ 4) อัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย