xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพากร” แจงรายละเอียดมาตรการภาษีท่องเที่ยวเมืองรองใน 55 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” แจงรายละเอียดมาตรการภาษีท่องเที่ยวเมืองรองใน 55 จังหวัด นิติบุคคลหักลดหย่อนได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาที่ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง ส่วนบุคคลธรรมดาหักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1. กำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง สามารถหักรายจ่าย 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

2. กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรองสำหรับค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรือค่าที่พักในโฮมสเตย์ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยตามที่กรมการท่องเที่ยวกำหนด

(2) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

(3) ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองร่วมกับจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ตามเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการ หรือค่าที่พัก ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

3. กำหนดให้จังหวัดท่องเที่ยวรอง หมายถึง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อุดรธานี, เชียงราย, ลพบุรี, พิษณุโลก, สุพรรณบุรี, อุบลราชธานี, นครนายก, หนองคาย, สระแก้ว, เลย, ตาก, ตราด, เพชรบูรณ์, จันทบุรี, มุกดาหาร, นครสวรรค์, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, พัทลุง, ตรัง, ศรีสะเกษ, ปราจีนบุรี, สตูล, ชุมพร, สุโขทัย, สุรินทร์, สกลนคร, ลำพูน, นครพนม, อุตรดิตถ์, ระนอง, ลำปาง, ร้อยเอ็ด, แม่ฮ่องสอน, พิจิตร, แพร่, ชัยนาท, น่าน, อ่างทอง, มหาสารคาม, กำแพงเพชร, อุทัยธานี, นราธิวาส, ยะลา, พะเยา, บึงกาฬ, กาฬสินธุ์, ยโสธร, สิงห์บุรี, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ และปัตตานี หรือเขตพื้นที่อื่นใดตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนด

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นการการสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น