“เจตาแบค” เผยเซ็นสัญญารับงานผลิตบอยเลอร์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มั่นใจช่วยเสริมรายได้ให้บริษัทได้อย่างดี โดยครึ่งปีหลังมีมูลค่างานในมือ (Backlog) มากกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลมูลค่าหลายร้อยล้านบาทที่ใกล้แล้วเสร็จปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ซึ่งงานที่มีเข้ามาส่งผลให้บริษัทขยายกำลังการผลิตโดยมีการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ และขยายพื้นที่โรงงานระยองเพิ่ม มั่นใจยอดขายปีนี้มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้
นายสุชาติ มงคลอารีย์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจตาแบค หรือ GTB ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องกำเนิดไอน้ำ (Steam Boiler) ระบบเผาไหม้ (Combustion System) งานวิศวกรรมพลังงานความร้อน (Thermal Energy Engineering) อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และงานบริการด้านเครื่องกำเนิดไอน้ำ เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ยังได้ทำการเซ็นสัญญาผลิตและติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ แทบทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลและ SPP, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี, กลุ่มยางและยานยนต์, กลุ่มกระดาษและสิ่งทอ, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มโรงไม้และโรงเหล็ก, กลุ่มโรงแรมและโรงพยาบาล ดันให้บริษัทมีรายได้รวมกว่าพันล้านบาท และจะสามารถรับรู้รายได้ดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า
ขณะที่แผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บริษัทยังคงหาโอกาสในการรับงานอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่บริษัทมองว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด มีความคืบหน้าของการผลิตและติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 60% ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการผลิตและติดตั้งบอยเลอร์ประเภท Biomass Steam Boiler (Para Wood Chip) ของบริษัท บางสวรรค์กรีน จำกัด จ. สุราษฏร์ธานี กำหนดระยะเวลา 12 เดือนหลังจากลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและทดสอบ (Test run) ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่อีก 2 โครงการเป็นของบริษัท ออสการ์ เซฟ เดอะเวิลด์ จำกัด จ. สุราษฎร์ธานี เป็นการผลิตและติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำประเภท VSPP 6 MWe., 9.9 MWe. และ 9.9 MWe. โครงการ 1 และโครงการ 2 ระยะเวลาการผลิตและติดตั้ง 14 เดือนหลังจากลงนามในสัญญา โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งพร้อมทดสอบการทำงานของเครื่องได้ประมาณเดือนเมษายนปีหน้า ทำให้บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการนี้ภายในปี 2560 ต่อเนื่องไปถึงปี 2561
ล่าสุด บริษัทฯ ได้สั่งซื้อและติดตั้งเครื่องจักรรุ่นใหม่ ระบบ CNC (Computer Numerical Control) พร้อมขยายพื้นที่ production ของโรงงานระยอง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้การทำงานในช่วงครึ่งปีหลังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากงานที่เริ่มทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่รอรับรู้รายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งงานโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใกล้จะแล้วเสร็จตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้บริษัทเชื่อว่าในปีนี้จะสามารถมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตของยอดขายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้