บอร์ด คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ ไฟเขียวเสนอขายหุ้น PP จำนวน 70 ล้านหุ้น ให้ Mr. Phoukhaokham Pravoraxay และหรือนายพีรณัฏฐ์ ตันติพจน์ ในราคาหุ้นละ 13.00 บาท คิดเป็นมูลค่า 910 ล้านบาท หวังดึงเงินรองรับขยายธุรกิจเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในและนอกประเทศ
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 70 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม จำนวน 359,240,725 บาท เป็นจำนวน 429,240,725 บาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 70 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) หรือ PP ให้แก่ Mr. Phoukhaokham Pravoraxay และ/หรือ นายพีรณัฏฐ์ ตันติพจน์ ในราคาหุ้นละ 13.00 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 910 ล้านบาท (ซึ่งเป็นราคาซื้อขายถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญของบริษัทฯ ย้อนหลัง 7 วันทำการ)
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้น PP ในครั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนสำรองการลงทุนในโครงการ Minbu อีกทั้งยังใช้เพื่อการลงทุนโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น
“การลงทุนในธุรกิจพลังงานของบริษัทฯ นั้น เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง และเพิ่มความมั่นคงของรายได้ อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว”
พร้อมทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2560 ของบริษัทในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรม เดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ห้องบอลรูม ชั้น 3 ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 กันยายน 2560
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาการลงทุนโครงการในอนาคต เช่น โครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และการเจรจาข้อตกลงเรื่องการลงทุนของทั้งสองฝ่ายด้วย
“บริษัทฯ ตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุน ประมาณ 8% จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทย และประมาณ 10% จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น”