ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยเผยเตรียมเร่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รับเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมกระตุ้นธุรกิจ Startup หวังเป็นเครื่องมือสำคัญของตลาดทุนไทยในอนาคต
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวในงาน Thailand Focus 2017 : Establishing the New Engine ว่า ในปีนี้รัฐบาลได้ดำเนินหลายกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น กลยุทธ์ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) การเร่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และการกระตุ้นและสนับสนุนธุรกิจ Startup ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยในระยะยาว
โดยงาน Thailand Focus 2017 นี้จะเป็นการวิเคราะห์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงการขยายตัวของตลาดฟินเทคในอุตสาหกรรมทางการเงินในอาเซียน ณ เวลานี้ เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า กลยุทธ์ประเทศไทย 4.0 ได้นำพาประเทศไทยมาสู่ทางแยกอันสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยกว่า 200 บริษัท ได้มีการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน
ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยได้เจริญเติบโต และแสดงศักยภาพอันเข้มแข็งมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มีผลกำไรมากถึง 5.6 เปอร์เซ็นต์ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา และได้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนถึง 94,000 ล้านบาท เทียบกับจำนวนเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้จ่ายเป็นจำนวน 88,000 ล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา จึงเท่ากับว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ให้แก่นักลงทุน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีความคล่องตัวระดับสูงในตลาดเป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน อีกทั้งมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย จำนวน 14 บริษัทอยู่ในดัชนีดาวน์โจนส์ และขณะนี้เรากำลังจัดทำดัชนี CLMV
ขณะที่ ดร. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ขยายตัว และเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ชะงักอยู่ที่ 0.8% แต่หลังจากนั้นอัตราการเติบโตของ GDP ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี พ.ศ. 2558 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา และอัตราการเติบโตล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 ที่ประมาณการไว้ คือ 3.7% ซึ่งถือเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดี
นอกจากนี้ การส่งออกของภาคเกษตรกรรมยังมีการขยายตัวอยู่ที่ 15% ซึ่งเป็นอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับในระยะก่อนหน้าที่อัตราการส่งออกติดลบ และเพิ่งขยายตัวเป็น 8% เมื่อไตรมาสที่สองที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการบริโภคภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้นถึง 3% และอัตราการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ 2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงทำให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมั่นคงกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ไว้ที่ 3.5-4% ในปีนี้ และ 5% ปีต่อ ๆ ไป
“การคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ไว้ที่ 5% นั้น เป็นเพราะว่า แม้ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจนทำให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และแสดงให้เห็นถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และได้นำวางแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ไปเป็นรากฐานหนึ่งของรัฐธรรมนูญ และมีคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และรัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้วางเป้าหมายและกรอบการทำงานระยะยาวให้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ โดยที่เป้าหมายและกรอบการทำงานได้อธิบายถึงโอกาสและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องประสบทั้งภายใน และภายนอก”
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายภายนอก ได้แก่ การพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามทางความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมในโลกออนไลน์ และความท้าทายภายใน ได้แก่ แนวโน้มทางประชากรของไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากประมาณ 20% ของประชากรกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ และเพิ่มขึ้นเป็น 30% หลังการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดรับกับความท้าทายเหล่านี้
ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้มี 6 ประเด็นหลักที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มุ่งเน้นในการพัฒนา คือ 1) ความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงในโลกไซเบอร์ และความมั่นคงทางอาหาร 2) การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 3) ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำถึงการวางแผนการออมหลังวัยเกษียณ และคุณภาพการศึกษา ซึ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เด็กไทยทำคะแนนสอบได้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานของ PISA 4) การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5) ปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน และ 6) การปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภาพรวมทั้งหมด
ในด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปีนี้ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 6,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 12 ปีนี้จะเป็นระยะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง SMEs และบริษัท Startup จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวน 1% ของ GDP แต่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นว่า การวิจัยและพัฒนาจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และนักวิจัยของไทยก็มีงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะในด้านโรโบติกส์
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีส่วนร่วมกับทั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ และการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลต่อ ๆ ไปนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยที่ประชาชน กฎหมาย และนวัตกรรม จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้สำเร็จลุล่วงไปได้