ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองแนวโน้มราคาข้าวไทย H2/60 ฟื้นตัว คาดปีนี้ยอดส่งออกใกล้เคียงปีก่อนที่ 10 ล้านตัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มทิศทางราคาข้าวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 60 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี โดยแบ่งเป็นราคาข้าวเปลือกเจ้าในช่วงครึ่งหลังของปี อาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 8,000-8,500 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นราว 5.5% (YoY) ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปีที่หดตัว 3.8% (YoY)
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 9,500-10,000 บาทต่อตัน หรือลดลง 2.2% (YoY) และราคาข้าวเปลือกเหนียวเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 10,000-11,000 บาทต่อตัน หรือลดลง 11.1% (YoY) ซึ่งหดตัวในอัตราที่น้อยลงกว่าครึ่งแรกของปีที่หดตัว 14.6% และ 11.5% (YoY) ตามลำดับ
ปัจจัยสนับสนุนภาพรวมราคาข้าว คือ ผลด้านจิตวิทยาจากปริมาณข้าวในสต๊อกที่น่าจะหมดไปภายในปีนี้ โดยคาดว่า รัฐบาลน่าจะสามารถระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 15 มิ.ย. 60 จำนวน 2.86 ล้านตันให้หมดได้ ส่งผลต่อราคาข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ปริมาณข้าวในสต๊อกอยู่ในระดับสูงทำให้ข้าวถูกกดราคา
ทั้งนี้ สต๊อกข้าวคงเหลือที่ 2.86 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวเพื่อการบริโภค 0.16 ล้านตัน ข้าวเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ 2.2 ล้านตัน และข้าวเพื่อใช้อุตสาหกรรม 0.5 แสนตัน ซึ่งในส่วนของข้าวรอการระบายเพื่อการบริโภคถือว่าเหลือน้อยมาก ขณะที่ข้าวเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ และข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม คาดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา
หากภาครัฐมีการควบคุมไม่ให้ข้าวไหลเข้ามาปะปนกับข้าวเพื่อการบริโภค จึงน่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตและราคาข้าวที่จะออกมาในช่วงถัดจากนี้ไป ความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่มีรองรับทั้งในรูปแบบของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และแบบเอกชนต่อเอกชน (P to P) จะเห็นว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 60 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก จะยังคงมีความต้องการซื้อข้าวจากไทยรองรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมสต๊อกไว้ใช้เพื่อความมั่นคงในประเทศ และความต้องการในช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของราคาข้าวเฉลี่ยทั้งปีนี้ คาดว่าจะยังต่ำกว่าปี 59 ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ยังเพิ่มขึ้น และทรงตัวอยู่ในระดับสูง (คาดว่าในปี 60 ปริมาณผลผลิตข้าวรวมอาจอยู่ที่ 33.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 17.5% (YoY)) แม้ว่านโยบายการปรับพื้นที่ปลูกข้าวของภาครัฐอาจได้ผลในการลดพื้นที่ปลูกข้าวได้ในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้ได้ในระยะสั้น ซึ่งคงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวเฉลี่ยปี 60 อาจอยู่ที่ 8,800 บาทต่อตัน หรือลดลง 7.0% (YoY) ซึ่งเป็นราคาที่เกิดจากการปรับฐานปีแรกจากผลของสต๊อกข้าวที่หมดไป และผลผลิตที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาพรวมราคาข้าวในปีนี้จะยังคงต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่หากพิจารณาเทียบกับข้อมูลราคาข้าวเฉลี่ยในอดีต (ปี 49-59) ในสถานการณ์ตลาดปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 9,200 บาทต่อตัน สะท้อนให้เห็นว่าในระยะถัดไป หากไม่มีปัจจัยกดดันด้านสต๊อกข้าว ภาครัฐสามารถบริหารจัดการอุปทานข้าวได้จากนโยบายควบคุมการปลูกข้าว สัดส่วนการผลิตข้าวเน้นไปที่ข้าวพรีเมียมมากขึ้น และการแข่งขันในตลาดโลกไม่รุนแรงนัก ก็จะทำให้ราคาข้าวไทยในระยะข้างหน้าน่าจะวิ่งเข้าใกล้ราคาข้าวเฉลี่ยในอดีตที่ 9,200 บาทต่อตัน หรือเคลื่อนไหวปรับขึ้นลงเล็กน้อย
นับเป็นแนวโน้มที่ดีที่ราคาข้าวไทยจะให้ภาพที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จากความพยายามของภาครัฐในการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว ท่ามกลางภาวะที่แนวโน้มราคาข้าวอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจเป็นการสร้างแรงจูงใจด้านราคาให้กับเกษตรกรในการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าว ซึ่งอาจสวนทางกับแนวทางนโยบายภาครัฐที่ได้วางไว้ ดังนั้น คงต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้เกี่ยวกับการปลูกข้าวในพื้นที่ศักยภาพ ตลอดจนต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางดังกล่าวของภาครัฐให้เกษตรกรได้เห็นถึงข้อดีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม แล้วหันมาเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่รัฐบาลสนับสนุน หรือพื้นที่ศักยภาพ (Zoning) เพื่อให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงขึ้น รวมถึงการผลิตข้าวที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (ข้าวพรีเมียม) อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี ข้าวสีนิล เป็นต้น
สำหรับการส่งออกข้าวของไทยคาดว่า ทั้งปี 60 ไทยอาจส่งออกข้าวอยู่ที่ 10 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้คำนึงถึงผลกระทบของพระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่อาจมีต่อการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือแล้วบางส่วน ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 8.2% (YoY) โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ เบนิน จีน และแอฟริกาใต้ ที่ขยายตัว 43.2%, 46.0% และ 7.1% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ไทยส่งออกข้าวไปตลาดเบนิน มากที่สุดถึง 12.6% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย โดยข้าวขาวยังคงเป็นข้าวที่มีบทบาทมากที่สุดในการส่งออกถึง 47.4% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกข้าวขาว ซึ่งเป็นข้าวที่แข่งขันด้านราคาสูงกับประเทศเวียดนาม
แต่หากไทยสามารถพัฒนาการผลิตในส่วนของข้าวหอมมะลิที่เป็นข้าวที่มีศักยภาพ และราคาไม่แกว่งขึ้นลงแรงมากนัก ตลอดจนเน้นเจาะตลาดกลุ่มที่นิยมบริโภคข้าวพรีเมียมมากขึ้น เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ก็อาจทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยสามารถทรงตัวอยู่ในระดับที่ดีได้ และสามารถมีส่วนแบ่งตลาดในแง่มูลค่าการส่งออกได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน แม้ว่าไทยอาจยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม ซึ่งราคาข้าวเฉลี่ยของไทยสูงกว่าอยู่ราว 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยทำได้ดี
สำหรับระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาข้าวไทยน่าจะให้ภาพที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นได้บ้างในปี 61 จากปัจจัยสำคัญที่ไม่มีแรงกดดันจิตวิทยาด้านราคาจากสต๊อกข้าวในประเทศ ประกอบกับความต้องการข้าวไทยจากต่างประเทศที่ยังมีรองรับต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพข้าวไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาด ท่ามกลางภาวะที่อุปทานข้าวโลกในปี 61 อาจลดลงไปอยู่ที่ 481 ล้านตัน หรือลดลง 0.42% (YoY) ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวโลกอยู่ที่ 480 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 0.01% (YoY)
อีกทั้ง หากนโยบายภาครัฐในการลดพื้นที่ปลูกข้าวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตข้าวคุณภาพดี ก็อาจช่วยหนุนราคาข้าวให้อยู่ในช่วงขาขึ้นได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยระมัดระวังด้านปริมาณผลผลิตคู่แข่งจากต่างประเทศที่อาจออกสู่ตลาดตามปกติ หลังจากประสบภัยธรรมชาติอาจกดดันราคาข้าวได้เช่นกัน