xs
xsm
sm
md
lg

BAM จับมือ พอช. จัดที่ดิน 3 แปลงรองรับชาวบ้าน 140 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(คนที่ 2 จากขวา) นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม. และนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่  BAM
BAM ร่วมมือกับ “พอช.” จัดหาที่ดิน 3 แปลงในย่านมีนบุรี และนนทบุรี เนื้อที่รวม 6 ไร่เศษ ราคา 20 ล้านบาทเศษ รองรับชาวบ้าน 140 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และชาวบ้านที่ถูกเอกชนไล่ที่

วานนี้ (25 ก.ค.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. แถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธี มีนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM เป็นสักขีพยาน และมีการลงนามในการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กับผู้แทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ฯ

นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว เพื่อป้องกันน้ำท่วม และโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา

โดยโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำฯ พอช. มีแผนรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. หากชุมชนใดที่รื้อบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนแล้ว หากมีพื้นที่เหลือก็สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ โดยเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ 2. จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ในโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ และ 3. หากไม่มีพื้นที่ริมคลองเหลือจะใช้วิธีจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อก่อสร้างบ้าน และชุมชนใหม่

“ที่ผ่านมา มีการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่จากเอกชนแล้ว 2 แปลง เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในบริเวณเขตสายไหม ส่วนในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บสก. กับ พอช. โดยจัดหาที่ดินของบริษัทฯ เพื่อรองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา รวมทั้งชุมชนที่โดนเอกชนไล่ที่ รวมทั้งหมด 3 แปลง สามารถรองรับชาวบ้านได้จำนวน 140 ครัวเรือน” นายไมตรี กล่าว

สำหรับที่ดินทั้ง 3 แปลงของ BAM คือ 1. ที่ดินโครงการบึงนายพล เขตมีนบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ ราคา 5,200,000 บาท (โอนที่ดินแล้ว) รองรับชาวชุมชนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำฯ จำนวน 40 ครอบครัว 2. ที่ดินโครงการบึงนายพล เขตมีนบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ ราคา 5,200,000 บาท (โอนที่ดินแล้ว) รองรับชาวชุมชนโรงช้าง จำนวน 37 ครอบครัว (เดิมชุมชนโรงช้างปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินของเอกชนย่านบางกะปิ มานานหลายสิบปี ต่อมาถูกฟ้องร้องขับไล่ในปี 2558 จึงได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช.) และ 3. ที่ดินบริเวณอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ราคา 10,165,000 บาท ซึ่งมีการเซ็นสัญญาซื้อขายในวันนี้ รองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา จำนวน 4 ชุมชน รวม 63 ครัวเรือน รวมราคาที่ดินทั้ง 3 แปลง ราคา 20,565,000 บาท

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านมั่นคง มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาที่อยู่ให้แก่ผู้ที่รายได้น้อย โดย BAM และ พอช. ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงานมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี และมีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือ ความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

ทั้งนี้ BAM มีหน้าที่หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นหนี้ที่ดี และ BAM มีลูกหนี้การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) ค่อนข้างเยอะ จึงมีความเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากมีบ้าน ซึ่งลูกหนี้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง และต้องการได้รับบ้านกลับคืน BAM ก็ได้มีการดำเนินโครงการ “สุขใจได้บ้านคืน” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ พอช. มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่องค์กรทั้งสองแห่งได้มีโอกาสร่วมมือกันผ่านโครงการบ้านมั่นคง ซึ่ง BAM มีศักยภาพและมีความพร้อม เพราะมีทรัพย์สินรอการขายทั่วประเทศที่อยู่ในทำเลที่ดี และมีคุณภาพ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 15,000 รายการ เพื่อให้ พอช. ได้พิจารณา และนำมาดำเนินโครงการบ้านมั่นคงให้กับชุมชนต่าง ๆ ต่อไป

ด้านนายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผอ. พอช. กล่าวว่า พอช. มีแผนงานรองรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีความเดือดร้อน โดย พอช. จะสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา เพื่อเป็นกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย หลังจากนั้น จะต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลสำหรับการทำนิติกรรม และสัญญาต่างๆ จากนั้น ชุมชนที่มีความพร้อมจะต้องจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก พอช. ทั้งเรื่องงบช่วยเหลือ งบสนับสนุน และสินเชื่อ เช่น ชุมชนริมคลองจะได้รับงบช่วยเหลือครัวเรือนละประมาณ 140,000 บาท งบสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท เมื่อ พอช. อนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาแล้ว สหกรณ์ฯ ก็จะนำเงินไปบริหาร และจัดจ้างผู้รับเหมา เพื่อก่อสร้างบ้านต่อไป

ส่วนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และจะไปก่อสร้างชุมชนใหม่ในที่ดิน BAM ย่านอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี มี 4 ชุมชน คือ ชุมชนมิตรคาม 1, มิตรคาม 2, ศาลเจ้าแม่ทับทิม และราชผาทับทิม ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตดุสิต รวม 63 ครัวเรือน ขนาดที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา เป็นที่ดินถมแล้ว

ตามแผนงานหลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินแล้ว จะเริ่มปรับหน้าดินเพื่อเริ่มก่อสร้างบ้านได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 8 ตารางวา โดย พอช. สนับสนุนงบช่วยเหลือ และงบสร้างสาธารณูปโภคหลังละ 75,000 บาท และสินเชื่อซื้อที่ดิน และสร้างบ้าน ไม่เกิน 360,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน หรือจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2561

นายสมชาติ กล่าวด้วยว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา มีทั้งหมด 12 ชุมชน รวม 309 ครัวเรือน ซึ่งนอกจาก 4 ชุมชนที่จะไปปลูกสร้างบ้านใหม่ในที่ดิน BAM ย่านบางใหญ่ จำนวน 63 ครัวเรือนแล้ว ยังมีอีก 5 ชุมชน รวม 64 ครัวเรือนที่ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในแฟลต ขส.ทบ.ย่านเกียกกาย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และ 2 ชุมชน รวม 23 ครัวเรือนที่กำลังจะเข้าไปอยู่อาศัยที่โครงการบ้านเอื้ออาทรท่าตำหนัก จ.นครปฐม ของการเคหะแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีชุมชนวัดเทวราชกุญชร จำนวน 33 ครัวเรือนที่จะขออยู่อาศัยในที่ดินเดิม โดยยืนยันว่า ชุมชนของตนเองเป็นชุมชนที่มีสัญญาเช่าที่ดินจากวัดเทวราชกุญชร ส่วนอีก 126 ครัวเรือนไม่เข้าร่วมโครงการ

ส่วนชุมชนริมคลองที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว และคลองบางซื่อ มีทั้งหมด 52 ชุมชน รวม 7,081 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เมื่อรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนแล้วสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ โดยปรับผังชุมชน และก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งชุมชน ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว 12 ชุมชน รวม 839 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ (รวมทั้งที่ดินบึงนายพล เขตมีนบุรี ของ BAM) นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่จัดซื้อที่ดินใหม่จากเอกชน จำนวน 2 แปลงในเขตสายไหม กำลังก่อสร้างบ้านใหม่รองรับชาวบ้านได้ 468 ครัวเรือน.


กำลังโหลดความคิดเห็น