นิด้าโพล จับมือเครดิตบูโร เผยผลสำรวจพฤติกรรมการออม-ภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 60 พบประชาชนร้อยละ 68.10 มีหนี้เฉลี่ย 5.65 แสนบาทต่อหัว และร้อยละ 59.47 หรือกว่าครึ่ง เป็นหนี้ซื้อ/ผ่อนบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค ด้านเงินออมพบร้อยละ 48.30 ไม่มีเงินออม
ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 60” ว่า จากประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศ 2,000 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 45.15% มีรายได้พอ ๆ กับรายจ่าย โดยประชาชนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,606.75 บาท
ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อย หรือ 51.65% มีเงินออมไว้ใช้ ขณะที่ร้อยละ 48.30 ไม่มีเงินออมไว้ใช้ และร้อยละ 0.05 ไม่ระบุ โดยในส่วนที่มีเงินออมส่วนใหญ่ 48.79% ออมเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ 38.33% ออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต 26.91% ออมไว้ให้บุตรหลานตลอดจนการศึกษาของบุตรหลาน 12.58% ออมเพื่อใช้ในระยะยาวช่วงหลังเกษียณอายุ
ส่วนการมีหนี้สินของประชาชนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 68.10% ระบุว่ามีหนี้สิน ซึ่งในจำนวนนี้มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท 59.47% เกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา 35.46% เกิดจากการลงทุนในการประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ กิจการ การเกษตร การค้าขาย 14.24% เกิดจากการเลี้ยงดูบุตรหลาน 11.89% เกิดจากการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว 6.17% เกิดจากการสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโด ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
สำหรับวิธีการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนที่มีหนี้สินพบว่า ผู้ที่มีหนี้สินนั้นส่วนใหญ่ 61.01% จะชำระยอดค้างให้ตรงต่อเวลา 19.46% ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม 14.17% ลดค่าใช้จ่าย 13.29% หาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่น ทำอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ ทำงานล่วงเวลา 10.50% ระบุว่า เลือกแบ่งงวดจ่ายให้มากครั้ง แต่จำนวนเงินต่อครั้งให้น้อย ๆ ขณะที่ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้สินเฉลี่ย 7.72 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) ซึ่งอยู่ในระดับมาก
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เครดิตบูโรได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์แก่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้า โพล” นับว่าเป็นความร่วมมือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งแรกเพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน การออม การใช้จ่าย ซึ่งผลสำรวจในประเทศครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และผลที่ได้จะช่วยต่อยอดวิเคราะห์เรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม ภาวะหนี้สิน การใช้จ่าย และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การป้องกัน แก้ไขปัญหาหนี้ของคนไทยได้อย่างทันการณ์ต่อไป
โดยเครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาหนี้ คือ ให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างพฤติกรรม และวินัยทางการเงินที่ดีผ่านเว็บไซต์ “มันหนี้” หรือ “Thai Debt Money” แก่กลุ่มผู้มีภาวะหนี้สิน และประชาชนทั่วไป ถือว่าสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในระดับภูมิภาคของรัฐบาลอีกด้วย