xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยคึก อานิสงส์งบ บจ. กำไรกระฉูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


LHFUND มองแนวโน้มการลงทุนครึ่งปีหลังเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่ม แนะเป็นจังหวะทยอยซื้อสะสม หลังประเมินผลประกอบการ บจ. ยังโตต่อเนื่อง ด้านโบรกคาดดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหว 1,555-1,600 จุด

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LHFUND) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ดีขึ้น คาดเห็นเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น โดยภาวะตลาดหุ้นไทยในขณะนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะเริ่มทยอยซื้อสะสม เนื่องจากประเมินว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่เติบโตได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านการลงทุนของภาครัฐ รายได้เกษตรกรที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจุบัน ผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จะเห็นได้ว่า พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีให้ Yield to maturity (อัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุไถ่ถอน) เพียง 2.59% ขณะที่การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศให้ Yield to maturity ที่สูงกว่า ดังนั้น การกระจายเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ น่าจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนรวมจากการลงทุนให้สูงขึ้นได้

นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในวันที่ 17-21 ก.ค. 2560 คาดตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแนวรับ 1,570 จุด และแนวต้าน 1,595-1,600 จุด โดยต้องติดตามตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2560 ของประเทศจีนที่จะประกาศในวันที่ 17 ก.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 6.8% และติดตามผลประกอบการของ บจ. ไทยไตรมาส 2/2560 ที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 17-21 ก.ค. มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555-1,565 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,590-1,600 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศงบการเงินของ บจ. ไทย สำหรับไตรมาส 2/2560 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดเฟีย เดือน ก.ค. และจำนวนบ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้าง และที่จะก่อสร้างเดือน มิ.ย. ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ประกาศของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น และ CPI ของสหราชอาณาจักร

ขณะที่ค่าเงินบาทประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.80-34.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ทิศทางการปรับตัวของสินทรัพย์เสี่ยง ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้าง ดัชนีราคานำเข้า และส่งออกเดือน มิ.ย. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือน พ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น