xs
xsm
sm
md
lg

BRRGIF เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้น ส.ค. นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF เซ็นสัญญาตั้ง 3 บิ๊กสถาบันการเงิน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)-ธนาคารกรุงเทพ-บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เป็นอันเดอร์ไรท์เตอร์ ขายหน่วยลงทุน IPO เคาะช่วงราคาเสนอขาย 9.90-10.40 บาท ผู้ถือหุ้น BRR จองซื้อ 7 และ 11-14 กรกฎาคม ขณะที่นักลงทุนทั่วไปจองซื้อได้ 17-21 กรกฎาคม
 
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า BRR ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด จัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ จากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของไทย ล่าสุด ได้มีการจัดพิธีลงนามแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (อันเดอร์ไรท์เตอร์) เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดจำหน่ายร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ BRRGIF จะเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) ประเภทพลังงานความร้อนร่วม ที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก เป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ มีกําลังการผลิตไฟฟ้าโรงละประมาณ 9.9 เมกะวัตต์ รวม 19.8 เมกะวัตต์ โดย BEC และ BPC ได้เข้าทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดโรงละ 8 เมกะวัตต์ รวม 16 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำในส่วนของ BEC 85 ตันต่อชั่วโมง และ BPC มีกำลังการผลิตไอน้ำ 100 ตันต่อชั่วโมง

สำหรับรายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนั้น ปี 2559 อยู่ที่ 523 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 68% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคตภายใต้โครงสร้างกองทุนได้ เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ยังอยู่ช่วงการพัฒนา โดยคาดว่าปีฤดูกาลหีบอ้อย 2559/2560 นี้จะมีอ้อยเข้าหีบ 2.2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปี 2560/2561 ซึ่งจะมีปริมาณกากอ้อยสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงได้เพียงพอกับช่วงการดำเนินงานของกองทุนเต็มปี ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงชีวมวล การปรับโครงสร้างการบริหาร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกำหนดสัญญาในการประกอบกิจการที่เหมาะสม ดังนั้น ภายหลังการจัดตั้งกองทุนฯ โรงไฟฟ้าจะมีผลการดำเนินงานที่ต่างจากที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) จะเข้าถือหน่วยลงทุนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยจะนำเม็ดเงินที่ได้มาจากการขายสิทธิรายได้สุทธิฯ จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมาใช้ต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจต่อเนื่อง โดยจะมีการพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมด้วย

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยว่า ได้กำหนดเสนอขายหน่วยลงทุน IPO ของ BRRGIF จำนวนทั้งสิ้น 350 ล้านหน่วย ในราคาระหว่าง 9.90-10.40 บาท โดยหน่วยลงทุน 45.5 ล้านหน่วย กำหนดให้ผู้ถือหุ้น BRR ที่มีสิทธิจองซื้อระหว่างวันที่ 7 และ 11-14 กรกฎาคมนี้ ขณะที่นักลงทุนทั่วไป จำนวน 115.5 ล้านหน่วย จองซื้อได้ 17-21 กรกฎาคม
 
โดยจะประกาศราคาสุดท้ายภายในวันที่ 24 กรกฎาคม และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ กองทุนฯ จะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคํานวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้ค่าซื้อขายไฟฟ้า (2) รายได้ค่าซื้อขายไอน้ำ (3) รายได้อื่นที่ได้รับจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า หักด้วย (4) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้ากองทุนฯ มีนโยบายปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งบริษัทได้จัดให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีทำประมาณการกำไรขาดทุน และการปันส่วนแบ่งกำไรในรอบ 12 เดือน (1 พ.ค. 2560-30 เม.ย. 2561) ประมาณการเงินปันผลของกองทุนฯ อยู่ที่ประมาณ 6.5% จากสมมติฐานว่า มูลค่าเสนอขายครั้งแรกอยู่ที่ 3,717 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

นายสุทธิพงศ์ พัวพันธ์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Real Estate & Infrastructure Investment บลจ. บัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มบุรีรัมย์ ที่มีความมั่นคงทั้งในด้านของรายได้จากสัญญาการขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. แบบ FiT โดย BEC มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2571 ขณะที่ BPC มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 6 เมษายน 2578

ขณะเดียวกัน ยังมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างกากอ้อย ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล และไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากซื้อจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงไฟฟ้าทั้งสอง นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังมีการทำสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ในลักษณะช่วยป้องกันความเสี่ยงในความผันผวนของราคา และปริมาณที่ได้รับด้วย อนึ่ง กองทุนฯ ยังมีโอกาสเติบโตจากการเข้าลงทุนในทรัพย์สินโรงไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่มีแผนการขยายต่อเนื่อง ดังนั้น กองทุนฯ นี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น